“cea” ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดโปรแกรมชวนเที่ยวในเทศกาล “unfolding bangkok” ในธีม “hidden temple” ท่องวัดลับย่านบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี ที่วัดภุมรินทร์ราชปักษี-วัดดุสิดาราม ร่วมย้อนรอยประวัติศาสตร์ชุมชนบางกอกน้อย ผ่านแนวคิด “วัดร้างกับพื้นที่ชุมชน” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-18 ธันวาคม 2565 นี้ พบกับการจัดแสดง แสงสี เสียง ด้วย projection mapping เล่าเรื่องราวพุทธประวัติบนฝาพนังวิหาร และ ตื่นตาไปด้วยเทคนิค interactive projection จัดแสดงภายนอกอาคารวิหาร สร้างบรรยากาศของเทศกาล ด้วยรูปแบบสร้างสรรค์ ชูจุดขาย เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร พร้อมเปิดตลาดนัดอาหารขึ้นชื่อสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565 : สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ cea ร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา,การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), กรุงเทพมหานคร, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ tceb urban all และ ศูนย์ข้อมูลสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับวัดดุสิดารามวรวิหาร มิตรเมืองภาคีเครือข่ายย่านบางกอกน้อย ร่วมขับเคลื่อนจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการ “unfolding bangkok” เปิดประสบการณ์ใหม่กรุงเทพมหานคร ในธีม hidden temple “ท่องวัดลับ” ย่านบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี ระหว่างวันที่ 10-18 ธันวาคม 2565 นี้ โดยมีนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ cea ร่วมย้อนรอยประวัติศาสตร์ชุมชนบางกอกน้อย ให้เกียรติร่วมงาน
นายพิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า การเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่สนับสนุนชุมชนครั้งนี้ นับเป็นการจัดเทศกาลต่อเนื่องจากโปรแกรมในธีม hidden temple “ท่องวัดลับ” ที่วัดอินทารามวรวิหาร,วัดจันทาราม และวัดราชคฤห์ ย่านตลาดพลู ไปเมื่อช่วงวันที่ 12-20 พฤศจิกายน 2565 ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และในครั้งนี้ เป็นการเปิดโปรแกรมช่วงที่ 2 ของ hidden temple ภายใต้แนวคิด “วัดร้างกับพื้นที่ชุมชน” จาก “ผี” สู่ “พุทธ” และการกลับมาของการละเล่นเชิงความเชื่อจิตวิญญาณ ในสถานที่สุดขลังของวัดโบราณ ที่นำความเชื่อวิถีชุมชนชาวบางกอกน้อย สู่การเล่าเรื่องผ่านวัดโบราณที่ร้างจากการจำพรรษาของพระ แต่ยังคงความสวยงามของสถาปัตยกรรมและปูนปั้น ที่อยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งจะได้พบกับเรื่องราวที่น่าสนใจ ใน “วัดภุมรินทร์ราชปักษี-วัดดุสิดาราม”
ทั้งในเรื่องลี้ลับ ความเชื่อ และประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนย่านบางกอกน้อย “เราได้นำความคิดสร้างสรรค์ ที่ใช้ต้นทุนทางด้านวัฒนธรรมมาต่อยอด เพื่อพัฒนาย่านสร้างสรรค์ในพื้นที่ฝั่งธนฯ ที่ยังทรงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม และสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับรับปีใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนที่มีศักยภาพที่ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี ที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดย cea ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายและชุมชน นำแนวความคิดสู่การสร้างสรรค์ เพื่อสร้างจุดขายของย่านให้มีความน่าสนใจ และสามารถกระจายรายได้จากการจัดเทศกาลฯ ไปสู่ประชาชนได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดรับกับแนวทางโรดแมปการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย” นายพิชิตฯ กล่าว
สำหรับโปรแกรมช่วงที่ 2 ของ hidden temple เป็นการนำพื้นที่ที่เป็นต้นทุนทางสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม มานำเสนอผ่านการคิดสร้างสรรค์ และตีความใหม่ให้เกิดความน่าสนใจด้วยแนวคิดการออกแบบและจัดแสดง สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญการอยู่ร่วมกันของวัดและชุมชนที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ด้วยความเจริญทำให้บริบทของความผูกพันระหว่างวัดและชุมชนมีความห่างเหินและเปลี่ยนไปจากเดิม
ดังนั้นเพื่อให้บรรยากาศ และวิถีชีวิต ของคนในชุมชนที่มีความเชื่อมโยงกับวัด กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยนำเทคโนโลยีด้านการออกแบบ กิจกรรม การแสดง แสง สี เสียง ที่จะดึงความสวยงามของสถาปัตยกรรม ออกมาให้มีความโดดเด่น สู่สายตาให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส และเรียนรู้ ด้วยเทคโนโลยีการฉายภาพสมัยใหม่ พร้อมด้วยการผนวกกับกิจกรรมวิถีชุมชน เพื่อนำเสนอ ร้านจำหน่ายอาหารขึ้นชื่อของย่านบางกอกน้อย รวมถึงกิจกรรมสอนทำอาหาร และกิจกรรม diy พวงมโหตร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนในชุมชน
ทั้งนี้กิจกรรมไฮไลท์ตลอด 9 วัน ได้แก่ projection mapping “ชมพูทวีป”สัมผัสเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพุทธประวัติผ่านรูปแบบศิลปะร่วมสมัย แสง สี เสียง ที่ถูกฉายภาพบนผนังในวิหารร้าง ชมการตีความผ่านฉากต่างๆ เช่น พระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ทรงปราบช้างธนบาลหัตถี โปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ ผ่านการตีความของ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ asitnahc-คุณแพรว-ฉันทิศา เตตานนทร์สกุล
สำหรับงานนี้จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 10-18 ธันวาคม 2565 เวลา 18.00-21.00 น. (เปิดให้ชมวันละ 7 รอบ จำกัดจำนวนรอบละ 15 คน โดยรับบัตรคิวหน้างาน) flower of faith การจัดแสดง interactive projection mapping ที่ชวนทุกคนมาร่วมส่งดอกไม้มงคลทั้ง 9 ชนิดขึ้นไปบน projection mapping ฉายลวดลายที่วาดโดย อ.เฉลิมพล โตสารเดช เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งดอกไม้แห่งศรัทธาให้สร้างสีสัน สร้างความมีชีวิตชีวากลับคืนสู่วัดภุมรินทร์อีกครั้ง ความทรงจำบางกอกน้อย (the memoir of bangkok noi) รับชมสารคดีสั้นจากความร่วมมือของชาวบางกอกน้อย ผ่านการเล่าเรื่องจากประสบการณ์จริงของคนในชุมชน
ประวัติศาสตร์ ชีวิตยุคสงครามมหาเอเชียบูรพา และความผูกพันระหว่างชุมชนกับสายน้ำ รวมถึงความพิเศษของพหุวัฒนธรรมด้านชาติพันธุ์ อาหารท้องถิ่น การละเล่น และเรื่องลี้ลับที่พลาดไม่ได้ ที่วัดภุมรินทร์ราชปักษี ระหว่างวันที่ 10-11 และ 17 ธันวาคม 2565 เวลา 19.30 น. (วันละ 1 รอบก่อนฉายหนังกลางแปลง) หนังกลางแปลง ร่วมฟื้นจิตวิญญาณลานวัดของชุมชนที่เคยรุ่งเรืองในอดีตให้กลับมาอีกครั้ง กับภาพยนตร์ที่เคยสร้างความประทับใจไว้ในความทรงจำของคุณ ชวนย้อนอดีตไปยังช่วงชีวิตวัยเยาว์ของใครหลายๆ คน ไปกับ “แฟนฉัน” และอิ่มเอมกับความรักหนุ่มสาวใน “friend zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน”
สถานที่ วัดภุมรินทร์ราชปักษี วันที่ 10-11 และ 17 ธันวาคม 2565 ตลาดนัดอาหารในชุมชน พบกับตลาด “hidden flower pavilion” ที่ถูกออกแบบขึ้นมา เพื่อปลุกพื้นที่โบราณสถานแห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดย ผศ.ดร. พัฒนปกรณ์ ลีลาพฤทธิ์ และอาจารย์ เชาว์วัฒน์ กิตติธรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมด้วยร้านจำหน่ายอาหารที่มีชื่อในย่านบางกอกน้อย พร้อมเสิร์ฟเมนูที่สะท้อนลักษณะพหุวัฒนธรรมระหว่างอาหารไทยและอาหารมุสลิม เช่น ขนมเบื้องญวน มะตะบะ ขนมไทย ฯลฯ สถานที่ วัดภุมรินทร์ราชปักษี ระหว่างวันที่ 10 -11 และ 17 ธันวาคม 2565
การละเล่นผีลอบ การกลับมาของการละเล่นเชิงความเชื่อและจิตวิญญาณของชุมชนบางกอกน้อยพร้อมเปิดประสบการณ์และเรียนรู้พื้นฐานความเชื่อเรื่อง “ผี” พบกับพิธีเซ่นไหว้ คำร้องชวนขนลุกกับการอัญเชิญสิ่งที่มองไม่เห็น บนพื้นที่ลานโพธิ์และศาลาเรือโบราณสุดขลังของวัดดุสิดารามในยามค่ำคืน สถานที่ : วัดดุสิดาราม วันที่ 10 -11 และ 18 ธันวาคม 2565
เวิร์กช็อป สอนทำอาหารย่านบางกอกน้อย เรียนรู้วิธีทำอาหารไทยจากปราชญ์ชุมชน และ เวิร์กช็อป สอนทำพวงมโหตร ทดลองทำงานฝีมือในรูปแบบ diy ผ่านภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม โดยใช้กระดาษตัดแต่งเป็นโคมระย้าสำหรับประดับตกแต่งสถานที่ในงานทำบุญตามประเพณี
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษในวันเปิดงาน ได้รับเกียรติ จากรองผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร มอบประกาศนียบัตรยกย่องปราชญ์ชุมชนบางกอกน้อย ด้านอาหาร และการละเล่นท้องถิ่น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการร่วมกันพัฒนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์และศักยภาพอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครต่อไป
ทั้งนี้ติดตามกิจกรรมต่อเนื่องของ “hidden temple” ในวันที่ 17-25 ธันวาคม 2565 ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่สาม “ขอบเขตที่ถูกซ่อนไว้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ย่านบางยี่ขัน ที่วัดพระยาศิริไอยสวรรค์ และวัดสวนสวรรค์ ทั้ง projection mapping ถ่ายทอดสันนิษฐานรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ของอุโบสถวัดสวนสวรรค์ วัดร้างที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชนบ้านปูน music and performance กิจกรรมดนตรีและการแสดงที่มีฉากหลังเป็นเจดีย์สามองค์ที่มีรูปทรงแตกต่างกัน ณ วัดพระยาศิริไอยสวรรค์ บางยี่ขัน และ architectural lighting การออกแบบไฟส่องสว่างพร้อมทั้งอินเตอร์แอ็กทีฟ ผ่านแสง สี ชวนสังเกตขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น ให้ปรากฏในรูปแบบใหม่ในวัดพระยาศิริไอยสวรรค์
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน