วช.-มช. ร่วมกับ ค.พ.ท. ประกวดแพะ ชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน ในงาน “เกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 10”
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ ภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และ เครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะแกะแห่งประเทศไทย (ค.พ.ท.) จัดการประกวดแพะ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และจัดนิทรรศการ “แพะพาเพลิน ชิม ช้อป แชะ ชิว” ในงานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคม 2565 โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มอบหมายให้ นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงานฯ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทศพล มูลมณี หัวหน้าภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ กล่าวต้อนรับ ณ เวทีการประกวดแพะ ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2565
นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดนิทรรศการ “แพะพาเพลิน ชิม ช้อป แชะ ชิว” เพื่อประชาสัมพันธ์บทบาท หน้าที่ และภารกิจของ (วช.) ในการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านสัตว์เศรษฐกิจเพื่อยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ ตลอดจนการนำไปสู่การใช้ประโยชน์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแพะ ผลิตภัณฑ์จากแพะ การส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแพะ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ (วช.) เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงแพะ เนื่องจากแพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้รับความนิยมและมีการเลี้ยงมากขึ้นทุกปี และแพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องที่มีขนาดเล็ก เลี้ยงง่าย ให้ผลตอบแทนได้รวดเร็ว ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแพะ มีการขยายตัวมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ (วช.) จึงสนับสนุนทุนวิจัยผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ผศ.ดร.ทศพล มูลมณี แห่ง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการดำเนินแผนงานวิจัย “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตแพะ”
นอกจากนี้ภายในงานมีนิทรรศการ “แพะพาเพลิน ชิม ช้อป แชะ ชิว” และการประกวดแพะชิงถ้วยพระราชทานฯ โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะทุกภูมิภาคของประเทศไทยให้การตอบรับสมัครเข้าร่วมการประกวดแพะเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงแพะของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ และเพื่อสร้างภาคีความร่วมมือทางวิชาการการพัฒนาสายพันธุ์แพะของประเทศไทย
การประกวดแพะชิงถ้วยพระราชทานฯ แบ่งประเภท ดังนี้
- แพะพันธุ์บอร์แท้หรือพันธุ์คาราฮารีแท้ จำนวน 3 รางวัล
- แพะพันธุ์แองโกลนูเบียน หรือ พันธุ์ชามี่ จำนวน 2 รางวัล
- แพะนมพันธุ์ซาแนนพันธุ์ อัลไพน์ หรือ พันธุ์ทอกเก็นเบิร์ก จำนวน 2 รางวัล
- แพะเนื้อลูกผสม จำนวน 1 รางวัล และ
- แพะพันธุ์พื้นเมือง จำนวน 1 รางวัล
ซึ่งแพะที่ได้รางวัลจะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จำนวน 4 รางวัล
สำหรับช่วงบ่าย นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานมอบถ้วยรางวัล โล่รางวัลและ เกียรติบัตรแพะที่ได้รับรางวัล โดยแพะที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทาน มีดังนี้
- แพะ ฮาแลนด์ จาก ฟาร์ม แฮมฟาร์ม ได้รับถ้วยพระราชทาน รางวัลแกรนด์แชมป์เปี้ยนแพะเนื้อ เพศผู้
- แพะ ปันปัน จาก ฟาร์ม แฮมฟาร์ม ได้รับถ้วยพระราชทาน รางวัลแกรมด์แชมป์เปี้ยน แพะเนื้อ เพศเมีย
- แพะ ไวท์ จาก KP ฟาร์ม ได้รับถ้วยพระราชทาน รางวัลแกรนด์แชมป์เปี้ยนแพะนม เพศผู้ และ
- แพะ บังเทา จาก KP ฟาร์ม ได้รางวัลถ้วยพระราชทาน รางวัลแกรนด์แชมป์เปี้ยนแพะนม เพศเมีย
พิธีมอบถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในการประกวดแพะ จะมอบในวันที่ 12 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน