เลขาธิการ กช.พร้อมโรงเรียน กพด.สังกัด สช. ร่วมประชุมหารือการดำเนินงานพร้อมสรุปผลการเข้าร่วมการดำเนินงานการประชุมวิชาการ การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2565
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ที่ห้องประชุมวิเวก ปางพุฒิพงศ์ ชั้น 2 อาคาร สช.นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เป็นประธานการประชุมพร้อมด้วย นายมูฮัมมาดอัสมี อาบูบากา ผู้อำนวยการโรงเรียนพีระยานาวินคลองหินวิทยา และประธานเครือข่ายโรงเรียนเอกชนในโครงการพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาฯ และผู้บริหารโรงเรียนเอกชนในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เข้าร่วมประชุมเพื่อสรุปผลการเข้าร่วมการดำเนินงานการประชุมวิชาการ การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2565 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม 2565 ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อาคารอิมแพคฟอรั่ม อาคาร 4 เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
เลขาธิการ กช. กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความยินดีด้วยกับครูที่ได้รับรางวัลชนะการประกวดแข่งขันแนวปฏิบัติที่ดี 6 ด้าน และและโรงเรียนที่ได้รับรางวัลจากการประกวดสถานศึกษาที่มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนดีเด่น (ด้านกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการ โภชนาการ และสุขภาพอนามัย ด้านกิจกรรมเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน และด้านกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนอิบตีดาวิทยา จ.นราธิวาส โรงเรียนดาราวิทยา จ.นราธิวาส โรงเรียนดารุลฮิกมะห์ จ.นราธิวาสและโรงเรียนบากงวิทยา จ.ปัตตานี จากการประชุมวิชาการ การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2565 และความร่วมมือทุกภาคส่วนที่ร่วมดำเนินการให้การประชุมวิชาการ ฯ ในปีนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ตนขอขอบคุณสำหรับความร่วมมือร่วมใจในการจัดการศึกษาเพื่อเด็กในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนในโครงการตามตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้ง 20 โรงเรียน เพื่อสนองพระราชประสงค์ที่จะให้เด็กและเยาวชนของชาติที่ยังขาดโอกาส อาจเนื่องด้วยความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ได้มีโอกาสเข้าถึงความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ มีสุขภาพแข็งแรง ได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นคนดี พึ่งตนเองและช่วยเหลือพัฒนาชุมชน ให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน