วช.สนับสนุนผลงานการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลและหมอนทองเพื่อการส่งออก
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนผลงานการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลและหมอนทองเพื่อการส่งออก และผลงานการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการ ให้นำผลงานเข้าร่วมงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 : Regional Research Expo 2023” ภายใต้แนวคิด “การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนด้วยงานวิจัย นวัตกรรม ภูมิปัญญาล้านนาและโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG” ระหว่างวันที่ 6 – 8 มกราคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
รศ. ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการ กล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญว่า ประเทศไทยมีชื่อเสียงในการส่งออกผลไม้สดโดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองและส้มโอผลสด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นผลไม้สำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลไม้ดังกล่าว ในแต่ละประเทศมีข้อกำหนดมาตรการเพื่อสุขอนามัยพืชแตกต่างกันไป เช่น วิธีอบไอน้ำ การจุ่มน้ำร้อน การฉายรังสี เป็นต้น รวมไปถึงมีอายุการเก็บรักษาสั้น เน่าเสียเมื่อไปถึงปลายทาง จึงต้องหาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อยืดอายุเก็บรักษาอย่างเหมาะสม โดยใช้การประเมินคุณภาพแบบไม่ทำลายผลิตผล ร่วมกับสารชะลอการสุกแก่ ร่วมกับบรรจุภัณฑ์อย่างเหมาะสม หากปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขจะมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพและโอกาสในการส่งออกผลไม้เศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันการส่งออก
โดยได้นำองค์ความรู้เทคโนโลยีและกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การรับผลทุเรียนหมอนทองจากสวนเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices ; GAP) ปราศจากโรคและแมลง จากนั้นประเมินคุณภาพแบบไม่ทำลายผลิตผลด้วยเครื่อง NIR spectrometer แบบพกพา เพื่อคัดระยะสุกแก่ที่ 80% ล้างผลด้วยสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์ 200 ppm ก่อนทำการแกะเอาเฉพาะเนื้อพูภายในห้องที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส แกะเนื้อพูน้ำหนัก 500 กรัม/กล่อง ห่อพูทุเรียนด้วยกระดาษกัวร์เมต์สีขาว จากนั้นบรรจุในกล่องพลาสติก ขนาดมาตรฐาน ยืดอายุเก็บรักษาด้วย 1-MCP ความเข้มข้น 1,200 ppm ผลทุเรียนที่ตัดแต่งพร้อมบริโภคยืดอายุด้วย 1-MCP ความเข้มข้น 1,200 ppm จะมีอายุการเก็บรักษา 20 วัน โดยรักษาความแน่นเนื้อได้ดี ชะลอการเปลี่ยนแปลงสีพู ลดอัตราการหายใจ ที่อุณหภูมิ 5 °C ผ่านมาตรฐานผักผลไม้ตัดแต่ง ทำให้เพิ่มมูลค่าทุเรียนหมอนทองแกะพูพร้อมบริโภคเกรดพรีเมี่ยมด้วยการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มมูลค่าได้ถึง 1,200-1,500 บาท/กล่อง (ปริมาตรเนื้อ 500 กรัม) โดยราคาขายภายในประเทศเพียง 600 บาท
ได้นำเสนอผลงานการฉายรังสีชนิดก่อไอออนแก่ส้มโอผลสดทั้ง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ทองดี ขาวแตงกวา ขาวน้ำผึ้ง และทับทิมสยาม เป็นมาตรการสุขอนามัยพืชก่อนการส่งออกโดยไม่มีผลเสียต่อคุณภาพทางกายภาพและเคมีของผลิตผลเนื่องจากได้รับปริมาณรังสีอย่างเหมาะสมและทั่วถึง รสชาติเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยการฉายรังสีแกมมาส้มโอผลสด ปริมาณ 400 เกรย์ มีความสม่ำเสมอของปริมาณรังสีในระดับดี (Dose Uniformity Ratio; DUR) เท่ากับ 1.59 เท่า เป็นไปตามข้อกำหนดการฉายรังสีผลไม้เพื่อการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา เกิดการเปิดตลาดส้มโอผลสดฉายรังสีจากประเทศไทยสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาได้เป็นครั้งแรก ในสหรัฐอเมริกาส้มโอจัดเป็นผลไม้ที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นผลไม้ในกลุ่มเดียวกันกับเกรฟฟรุต แต่ส้มโอมีขนาดใหญ่และมีรสชาติหวานกว่า
NIR spectrometer เป็นเครื่องมือแบบพกพาสามารถประเมินคุณภาพผลิตผลทางการเกษตรได้ถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และเชื่อถือได้ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้ประเมินคุณภาพภายในแปลงปลูกหรือภายในโรงคัดบรรจุเชิงพาณิชย์
ทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนหมอนทองและส้มโอในเขตภาคเหนือตอนล่าง,พัฒนาเทคนิคการประเมินคุณภาพแบบไม่ทำลายผลิตผลด้วยเครื่อง NIR spectrometer แบบพกพาให้แก่บริษัท กรกต อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด,พัฒนาเทคนิคการยืดอายุเก็บรักษาทุเรียนแกะพูพร้อมบริโภคด้วย 1-MCP เพื่อการส่งออกสหรัฐอเมริกาให้แก่บริษัท กรกต อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด และบริษัท คิง เฟรช ฟาร์ม จำกัด,พัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวส้มโอทองดี ขาวแตงกวา ขาวน้ำผึ้ง และทับทิมสยาม ก่อนการฉายรังสีให้แก่ ศูนย์ส่งออกส้มโอโพธิ์ประทับช้างและอัมพวา บริษัท คิง เฟรช ฟาร์ม จำกัด บริษัท เอสเอจี เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด และข้อมูลปริมาณรังสีดูดกลืนในบรรจุภัณฑ์ในผลิตผลทางการเกษตรอย่างเหมาะสมให้แก่ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)
“การนำไปใช้ประโยชน์ การขยายผล และผลกระทบ (Impact) จากผลงานวิจัย ทำให้เกิดการส่งออกทุเรียนแกะพูพร้อมบริโภคให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐได้เป็นอย่างดี เนื้อไม่เละ รสชาติหวานอร่อย ผิวสีเหลืองทอง ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นต้นแบบขั้นตอนการส่งออกทุเรียนแกะพูพร้อมบริโภคแทนการส่งออกแบบผลสด และยังประสบความสำเร็จในการฉายรังสีในส้มโอทองดี ขาวแตงกวา ขาวน้ำผึ้ง ทับทิมสยาม ซึ่งจัดเป็นผลไม้ชนิดที่ 8 (มะม่วง มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย สับปะรด เงาะ และแก้วมังกร) โดยมีการวัดการกระจายของปริมาณรังสีดูดกลืนในบรรจุภัณฑ์อย่างเหมาะสมเพื่อการส่งออกเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกของประเทศ ภายหลังระเบียบข้อบังคับเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564” รศ.ดร.พีระศักดิ์ฯ หัวหน้าโครงการ กล่าว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน