ตำรวจไซเบอร์ ฝากเตือนภัยพฤติกรรม Sharenting ของผู้ปกครองโพสต์ข้อมูลส่วนตัวบุตรหลานในความปกครองเสี่ยงเปิดโอกาสผู้ไม่หวังดี
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยพฤติกรรม Sharenting พ่อแม่โพสต์ข้อมูลส่วนตัวเด็กเสี่ยงเปิดโอกาสผู้ไม่หวังดี ดังนี้
Sharenting เกิดจากการผสมคำว่า share + parenting ใช้เรียกพฤติกรรมของพ่อแม่ที่แชร์ภาพ วิดีโอ รวมถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกมากเกินไป จริงอยู่ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ได้มีเจตนาร้าย ส่วนใหญ่เป็นการโพสต์รูปลูกด้วยความรักใคร่ เอ็นดู และอยากจะส่งต่อความน่ารักนี้ให้คนอื่นได้เห็น แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตัวบุตรหลานในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพ หรือผู้ไม่หวังดีเข้าถึงตัวบุตรหลานได้ง่าย จากกิจกรรมที่ผู้ปกครองโพสต์ไว้ในสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น การขโมยตัวตน (Identity Theft) สวมรอยเหยื่อนำข้อมูลส่วนตัวไปกระทำผิดกฎหมาย หรือนำภาพเด็กไปสร้างเรื่องราวขอรับเงินบริจาคต่างๆ ปัญหาเรื่องล่วงละเมิดทางเพศเด็ก การนำภาพเด็กไปขายในเว็บมืด (Dark web) หรือนำไปเพื่อใช้ตอบสนองทางเพศของกลุ่มคนที่มีอาการใคร่เด็ก (Pedophile) หรือนำไปเเสวงหาผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ เป็นต้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรตระหนักรู้ถึงผลที่จะตามมาหลังการโพสต์ข้อมูลของเด็ก หรือบุตรหลานในแต่ละครั้ง ซึ่งมิจฉาชีพอาจใช้โอกาสเอาข้อมูลส่วนตัวไปเเสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้
จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการป้องกัน ดังนี้
- พึงระลึกอยู่เสมอว่าการโพสต์ข้อมูลส่วนบุคคลลงในโลกออนไลน์ไม่ปลอดภัย
- คิดเสมอว่าสิ่งใดที่เผยแพร่ไปแล้วในพื้นที่สาธารณะบนโลกออนไลน์ สิ่งนั้นจะคงอยู่ตลอดไป ไม่สามารถเรียกกลับคืน หรือลบล้างออกได้หมด
- ไม่โพสต์ หรือแชร์ข้อมูลของบุตรหลานจนเกินพอดี
- ไม่โพสต์ข้อมูลที่สำคัญลงในสื่อสังคมออนไลน์ และควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัวจำกัดผู้เข้าถึงข้อมูล
- ผู้ปกครองหมั่นตรวจสอบการใช้สื่อโซเชียลมีเดียของบุตรหลาน เพราะเด็กอาจจะนำข้อมูลไปเผยแพร่โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ทั้งนี้หากพบเบาะแสการกระทำผิด หรือ ข้อขัดข้องใดๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนหมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน