วช. ร่วมกับ สอศ. บ่มเพาะเยาวชนสายอาชีวศึกษา เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่จังหวัดเชียงใหม่
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อย.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดกิจกรรม “การบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ประจำปี 2566 ภาคเหนือ” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พัฒนาคน พัฒนาอาชีวะ : เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” โดยมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิ (วช.) ให้เกียรติเข้าร่วมงาน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 โดยกิจกรรมจัดระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2566 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษาสายอาชีวศึกษาให้เกิดแรงจูงใจในการคิดค้นผลงานประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อใช้ในประเทศ ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคนและสังคมไทยให้เป็นรากฐานที่เข้มแข็งของประเทศในการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้สู่การร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาการอาชีวศึกษา พ.ศ.2560–2579 และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560–2579 ในการมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนด้วย การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมทั้งการพัฒนาศักยภาพกำลังคนให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ โดย (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ร่วมวางกลไกและจัดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ การจะผลิตนักประดิษฐ์สายเทคนิคหรืออาชีวะ ให้เป็นนักประดิษฐ์ที่มีคุณภาพด้วยการบ่มเพาะให้ความรู้และเทคนิคแนวการคิดใช้ระยะเวลา 3 วัน โดยมีนักเรียน นักศึกษา จาก 40 หน่วยงาน จำนวน 250 คน เข้ารับการอบรม นำเอกสารเชิงแนวคิด หรือ Concept Paper มาให้ผู้ทรงคุณวุฒิและคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้ข้อเสนอแนะและคำแนะนำ เพื่อนำไปปรับปรุงและเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดกิจกรรมจะจัดในทุกภูมิภาคโดยจัดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นที่แรก ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งที่ 2 และจะจัดกิจกรรมในภาคกลางและภาคตะวันออก ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ
ทั้งนี้รูปแบบในการจัดกิจกรรมบ่มเพาะในการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ใน หัวเรื่อง การเปลี่ยนขยะให้เป็นสินค้าด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม Creative Thinking for Creative Innovation เทคนิคการนำเสนอผลงาน พร้อมกันนี้ได้มีกิจกรรมแบ่งกลุ่มการฝึกปฏิบัติตามกลุ่มเรื่อง ซึ่งได้กำหนดกลุ่มเรื่องผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ดังนี้
1.ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร
2.ด้านสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
3.ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ
4.ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model และ
5.ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรอบรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการพัฒนาผลงานนวัตกรรมในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งท่านได้มาให้ความรู้ ความเข้าใจ การสร้างแรงบันดาลใจกับทีมนักศึกษาสายอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่จะเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนากำลังคนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม การขับเคลื่อน การพัฒนาและสร้างนวัตกรรมในอนาคตต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน