วช. ร่วมกับ สอศ. มอบรางวัลติดดาว 15 ผลงานเด่น เสริมแรงจูงใจให้เยาวชนในกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษาฯ ภาคเหนือ
วันที่ 26 มกราคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดพิธีมอบรางวัลติดดาวผลงานเด่นอาชีวศึกษา ในกิจกรรม “การบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ประจำปี 2566 ภาคเหนือ” วันสุดท้าย โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษาสายอาชีวศึกษาให้เกิดแรงจูงใจในการคิดค้นผลงานประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อใช้ในประเทศ ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่
รางวัลติดดาวของทีมอาชีวศึกษาที่มีผลงานและการนำเสนอได้อย่างโดดเด่น เป็นต้นแบบการพัฒนาและการต่อยอดเป็นประดิษฐกรรมและนวัตกรรม สำหรับการส่งเสริมให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานตามทิศทางวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 15 ผลงาน ใน 5 กลุ่มเรื่อง ประกอบด้วย
- ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ได้แก่ ผลงานชุดปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ระบบปิดแบบปรับระดับน้ำ จาก วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทุ่นตกปลาจากส่วนเหลือทิ้งลำต้นมันสำปะหลัง จาก วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ และผลงานเครื่องกรอฝ้ายสำหรับถักทอด้วยระบบไฟฟ้า จาก วิทยาลัยเทคนิคลำพูน
- ด้านการสาธารณสุข สุขภาพและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ได้แก่ ผลงานเมี่ยงคำอบแห้งเสริมโปรตีนจากถั่วแปจ่อเขียว จาก วิทยาลัยเทคนิคตาก ผลงานทีดา ดิโอเดอเรินท์ ฟุทสเปรย์ จาก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน และผลงานสบู่ขัดผิวเส้นใยกัญชง จาก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน
- ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และอุปกรณ์อัจฉริยะ ได้แก่ ผลงานคอนโดจิ้งหรีดอัจฉริยะ จาก วิทยาลัยการอาชีพสอง ผลงานเครื่องช่วยลอกและติดฟิล์มจอ LCD จาก วิทยาลัยเทคนิคลำพูน และผลงานชุดควบคุมการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ขนาดเล็ก จาก วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก
- ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ผลงานสปอยเลอร์ดักจับฝุ่น PM 2.5 ด้วยอนุภาคประจุลบ จาก วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ผลงานเตาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จาก วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจพิษณุโลก และผลงานเตาแก๊สชีวมวลจากตะเกียบเหลือทิ้ง จาก วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย และ
- ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แก่ ผลงานโคมไฟจากมูลช้าง จาก วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง ผลงานเครื่องตัดฟลัฟฟี่รักษ์โลก จาก วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย และผลงานรถยนต์ไฟฟ้า Kotaka EV สำหรับคนพิการ จาก วิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์
นอกจากนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิ (วช.) ที่ร่วมเป็นวิทยากรในการบ่มเพาะบุคลากรสายอาชีวศึกษา ได้ร่วมมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะทุกสถาบันการศึกษา ที่ร่วมเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสมรรถนะในครั้งนี้ด้วย
สำหรับกิจกรรม “การบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ประจำปี 2566” (วช.) ร่วมกับ (สอศ.) จัดขึ้นเพื่อร่วมกันวางกลไกและจัดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ ซึ่งจัดกิจกรรมในรูปแบบการบ่มเพาะให้ความรู้และเทคนิคแนวการคิดในระยะเวลา 3 วัน โดยนักเรียน นักศึกษา จากสถาบันอาชีวศึกษาที่เข้ารับการอบรม จะนำเอกสารเชิงแนวคิด หรือ Concept Paper มาให้ผู้ทรงคุณวุฒิและคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะและคำแนะนำ เพื่อนำไปปรับปรุงและเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดกิจกรรมนี้จะจัดขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งครั้งต่อไปจะจัดในภาคกลางและภาคตะวันออกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามลำดับต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน