ข่าวใหม่อัพเดท » ม.วลัยลักษณ์ จับมือ 47 สถานประกอบการที่ จ.ภูเก็ต เอ็มโอยู “สหกิจศึกษา” ขับเคลื่อนแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการท่องเที่ยว

ม.วลัยลักษณ์ จับมือ 47 สถานประกอบการที่ จ.ภูเก็ต เอ็มโอยู “สหกิจศึกษา” ขับเคลื่อนแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการท่องเที่ยว

2 กุมภาพันธ์ 2023
0

ศูนย์สหกิจศึกษาฯ ม.วลัยลักษณ์ จับมือ 47 สถานประกอบการในจังหวัดภูเก็ตและพังงา ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้าน “สหกิจศึกษา” เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะนักศึกษาให้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติ มีความพร้อมสำหรับการทำงานจริง แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education: CWIE) ประจำปี พ.ศ.2566 ร่วมกับผู้บริหารสถานประกอบการจากภาครัฐ ภาคเอกชน จำนวน 47 หน่วยงาน โดยเป็นพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 45 หน่วยงาน จังหวัดพังงา 2 หน่วยงาน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ สุขสอาด รักษาการแทนรองอธิการบดี อาจารย์ ดร.อัตนันท์ เตโชพิศาลวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์สหกิจศึกษาฯ ตลอดจนผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ของ ม.วลัยลักษณ์ สถานประกอบการ และสื่อมวลชนเป็นสักขีพยาน ห้องประชุมใบเรือ โรงแรม NH Phuket Boat Lagoon จ.ภูเก็ต

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มุ่งพัฒนาคุณภาพนักศึกษา ให้เป็นบัณฑิตที่ “เก่งวิชาการ เชี่ยว ชาญการปฏิบัติ จบแล้วทำงานได้” ผ่านกระบวนการเตรียมความพร้อมทั้งทางวิชาการและการปฏิบัติงานสหกิจศึกษาจากเดิม 4 เดือน เป็น 8 เดือน เพื่อให้นักศึกษาปฏิบัติงานในหน่วยงานและสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง พร้อมการพัฒนาทักษะและความชำนาญส่วนบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่รับนักศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้มีความพร้อมทำงานและเพิ่มความสามารถด้านแข่งขันแก่ประเทศไทย และยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการผลิตกำลังคนของ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของหน่วยงานและสถานประกอบการ สามารถรองรับนักศึกษาได้ทุกสาขาวิชาชีพ ที่ไม่เฉพาะหน่วยงานภาคการท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นในระดับโลก แต่ยังมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานด้านกฎหมาย การบัญชี รวมทั้งด้านการแพทย์ พยาบาล ที่ครอบคลุมทุกมิติ และมีความหลากหลายด้านภาษา ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์สามารถปฏิบัติงานสหกิจศึกษาได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมก้าวสู่วัยทำงานอย่างมืออาชีพ

อย่างไรก็ตาม นอกจากการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้มีความพร้อมในการทำงานจริงแล้วนั้น การลงนามความร่วมมือด้านสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับ 47 หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและพังงา ยังเป็นการเสริมความเชื่อมั่นด้านการศึกษา จบแล้วมีงานทำ ทำงานได้ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการท่องเที่ยว ที่กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ปัจจุบันถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!