ผู้ช่วยฯ สมพงษ์-ศปอส.ตร.” เตือน 3 กลโกงล่าสุด หลอกขายนม-กดลิงก์บริษัทประกันปลอม
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 : พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) หัวหน้าอำนวยการด้านประชาสัมพันธ์ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.),พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.สพฐ./หัวหน้าด้านข่าวสารและประชาสัมพันธ์, พล.ต.ต.อรุษ แสงจันทร์ รอง ผบช.ศปก.ตร./หัวหน้าฝ่ายแถลงข่าวและประสานงานสื่อมวลชน ศปอส.ตร., พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ฯ ปฏิบัติหน้าที่ ศปอส.ตร. และ พ.ต.อ.ภัคพงศ์ สายอุบล รอง ผบก./รองหัวหน้าฝ่ายแถลงข่าวและประสานงานสื่อ มวลชน ร่วมกันเปิดเผยว่า ในรอบสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารการรับแจ้งความออนไลน์ ศปอส.ตร. และ บช.สอท. พบอาชญากรรมออนไลน์ที่ต้องเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนประชาชน คือ หลอกขายนมไทยเดนมาร์ก,หลอกให้กดลิงก์บริษัท ไทยประกันชีวิตปลอม และหลอกให้ลงทุนเล่นพนันออนไลน์ เป็นต้น
สำหรับการหลอกขาย “นมไทยเดนมาร์ก” นั้น ขั้นตอนการหลอกลวงคนของคนร้าย คือ
- สร้างเพจ Facebook ขึ้นมาโดยใช้ชื่อ รูปโปรไฟล์ รูปปก ที่อยู่ ข้อความแนะนำ ใกล้เคียงกับเพจไทยเดนมาร์ค
- สร้างเป็นเพจ Facebook หรือซื้อโฆษณาเพจเพื่อให้คนเห็นได้จากระบบอินเตอร์เน็ต
เมื่อมีผู้หลงเชื่อมาสอบถามเพื่อขอซื้อ เพจจะใช้หลักจิตวิทยาเพื่อให้ผู้หลงเชื่อโอนเงินให้ก่อน เมื่อถึงวันรับสินค้า เหยื่อจะส่งข้อมูลไปสอบถาม แต่ก็จะอ้างเลื่อนการส่งด้วยมีเหตุต่างๆ สุดท้ายปิดเพจหนีหรือเปลี่ยนชื่อเพจเป็นชื่อ
ข้อควรระวัง คือ ตรวจสอบเพจ Facebook ให้แน่ใจก่อนซื้อ โดยกด “เกี่ยวกับ” “ความโปร่งใส” ก็จะเห็นว่าเปิดมานานเท่าใด ผู้จัดการเพจอยู่ประเทศไทยหรือไม่(อยู่ต่างประเทศ ควรหลีกเลี่ยง) และดูช่องกดไลก์ ดูโพสต์เป็นหลัก อย่าดูด้านใต้ชื่อเพียงอย่างเดียว เพราะสามารถซื้อ “ไลก์” ได้
ส่วนการหลอกให้กดลิงก์ บริษัท ไทยประกันชีวิตปลอม ขั้นตอนการหลอกลวงของคนร้าย คือ
- คนร้ายจะสร้างเว็บไซต์บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ปลอม URL : www.hailifa-ah.com ให้มีลักษณะคล้ายเว็บไซต์บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด
- สุ่มส่งข้อความไปทางโทรศัพท์(พร้อมลิงก์) ว่าเหยื่อได้รางวัลเป็น คูปองพิเศษใช้กับโลตัส ,เติมน้ำมันฟรี เป็นต้น
- เมื่อเหยื่อกดลิงก์ติดต่อเข้าไปพูดคุยกับคนร้ายทางไลน์ ก็จะหลอกว่าต้องเข้ายืนยันสมาชิกที่เว็บปลอม แล้วหลอกเหยื่อให้กด 1) ยอมรับการเข้าควบคุมเครื่อง,2) ใส่รหัสในระบบ (เหยื่อส่วนใหญ่ใส่เหมือนเข้าแอปธนาคาร) และ 3) บางธนาคารกดลืมรหัสเข้าแอป จะได้เลข OTP เพื่อตั้งรหัสใหม่
- ถอนเงินออกจากทุกบัญชีที่ผูกกับแอปธนาคารในโทรศัพท์ ข้อสังเกตของจริงหรือของปลอม
- ของจริง 1.ไม่มีนโยบายส่งข้อความสั้นให้คนทั่วไป,2.มีเว็บไซต์บริษัท url มีเพียง 1 แบบ คือ https://www.thailife.com/ เท่านั้น ตรวจสอบกับเว็บ whois เปิดมาตั้งแต่ปี 2540,3.มีเบอร์โทร call center สำหรับการติดต่อ คือ โทร. 1142
- ของปลอม 1.จะส่งข้อความสั้นมาหลอกลวงทางโทรศัพท์มือถือ,2.ชื่อผู้ส่ง จะเป็นเบอร์ +66…… หรือ e-mail ที่ไม่มีชื่อว่ามาจากหน่วยไหน(ของจริงส่วนใหญ่จะระบุชื่อ เช่น ais),3.โทรกลับที่เบอร์ที่ส่งมา (เปลี่ยน +66 เป็น 0) จะไม่มีผู้รับสาย 4.นำเว็บไซต์ปลอมตรวจสอบกับเว็บ whois พบว่าเพิ่งเปิดเมื่อวันที่ 7 ก.พ.65 (ปลอมแน่นอน)
พล.ต.ท.สมพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การย้ำเตือนดังกล่าวเป็นนโยบายและสั่งการของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ที่ได้สั่งการให้เข้มงวดกวดขันในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องในความรับผิดชอบของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยหวังว่าจะสามารถปราบปรามการกระทรวงปิดให้หมดสิ้นไปเพื่อความสุขของประชาชนและสังคมไทยอย่างแท้จริง
“อย่าลืมเข้าไปดูในเพจ https://www.facebook.com/PCTPOLICE แล้วร่วมกันแจ้งเบาะแสในการแสดงความผิดเป็นกองกำลังป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเหล่านี้หมดสิ้นไป” พล.ต.ท.สมพงษ์ฯ กล่าว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน