ข่าวใหม่อัพเดท » วช. เปิดบ้านโชว์งานวิจัยในสวน “ภูมิทัศน์พรรณไม้ลด PM 2.5” เพิ่มพื้นที่สีเขียว ทางรอดลดฝุ่น

วช. เปิดบ้านโชว์งานวิจัยในสวน “ภูมิทัศน์พรรณไม้ลด PM 2.5” เพิ่มพื้นที่สีเขียว ทางรอดลดฝุ่น

28 กุมภาพันธ์ 2023
0

วช. เปิดบ้านโชว์งานวิจัยในสวน “ภูมิทัศน์พรรณไม้ลด PM 2.5” เพิ่มพื้นที่สีเขียว ทางรอดลดฝุ่น

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดแถลงข่าว “โมเดลสวนลดฝุ่น PM 2.5 และ เฝ้าระวัง PM 2.5” เพื่อช่วยลดผลกระทบปัญหาฝุ่นละออง ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่สูงเกินมาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เสมือนการสร้างภูมิต้านทานในระยะยาว โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานในการแถลงข่าว และมี ดร.ภูชีวันท์ สุริยะวงศ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัญจน์ ศิลป์ประสิทธิ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และรองศาสตราจารย์ ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมแลงข่าว ณ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ชั้น 1 อาคาร (วช.) 8

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ซึ่งในแผนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (วช.) มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเชิงรุก เพื่อนำสู่การกำหนดแผนงานวิจัยตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์และความต้องการของประเทศ โดยใช้กลไกความร่วมมือทางวิชาการของทุกภาคส่วน ทั้งเครือข่ายนักวิจัย สถาบันวิจัย และหน่วยงานต่างๆ

โดยงานแถลงข่าวในวันนี้ (วช.) นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้การสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมของ (วช.) จำนวน 2 โครงการที่เป็นการขยายผล ต่อยอดจากผลงานวิจัยที่ผ่านมาๆ เพื่อขับเคลื่อนผลผลิตและผลสำเร็จจากผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์โครงการ “ระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ” หรือ “ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ (Air Quality Information Center: AQIC)” จากทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลการรายงานผลจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ของหน่วยงานต่างๆ เพื่อติดตามคุณภาพอากาศในประเทศ พร้อมระบบจำลองคุณภาพอากาศล่วงหน้า 3 วัน และระบบติดตาม ตรวจสอบจุดความร้อน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสนับสนุน ป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันของประเทศ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้จาก https://pm2_5.nrct.go.th/ หรือ ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ได้ทั้งระบบ IOS หรือ Android

ซึ่งได้ต่อยอดจากหลายโครงการ ได้แก่ การเฝ้าระวังและเตือนภัยปัญหาหมอกควัน โดยเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศระบบเซ็นเซอร์ DustBoy ในประเทศไทย และการพัฒนาแบบจำลองการแพร่กระจายของหมอกควันของประเทศไทย ภายใต้ แผนงานวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้หมอกควัน โครงการ “การใช้ไม้ยืนต้นลดฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ด้วยรูปแบบโครงสร้างและลำดับชั้นต้นไม้แบบนิเวศป่าในเมือง” ที่ต่อยอดจากโครงการ “การใช้พืชยืนต้นบำบัดฝุ่นละอองอย่างยั่งยืน” ที่จากทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทำให้ทราบชนิดพืชที่มีศักยภาพในการลดฝุ่น PM2.5 และกลไกการบำบัดฝุ่นด้วยพืช จึงเกิดแนวคิดการสร้างแบบจำลองระดับเมืองหรือระดับถนนโดย อ้างอิงจากข้อมูลอัตราการไหลและทิศทางการไหลของอากาศในพื้นที่จริง เพื่อให้เห็นรูปแบบการไหลเวียนอากาศตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อันเป็นภาพรวมและประโยชน์จากงานวิจัย การใช้ไม้ยืนต้นลดฝุ่นอย่างยั่งยืนด้วยรูปแบบโครงสร้างและลำดับชั้นต้นไม้แบบป่าในเมือง

สวน “ภูมิทัศน์พรรณไม้ลดฝุ่น PM2.5” ประกอบไปด้วยต้นไม้ 3 ระดับ ไม้ขนาดใหญ่ เป็นต้นไม้เดิมจะปกคลุมชั้นเรือนยอด เช่น ราชพฤกษ์ประดู่บ้าน และพิกุล โดยไม้ที่นำมาปลูกเพิ่มจะเป็นไม้ขนาดกลางและไม้ขนาดเล็ก โดยทั่วไปนั้นฝุ่นละอองเล็ก PM2.5 จะถูกพัดพาไปตามกระแสอากาศ ดังนั้นสวนแห่งนี้จึงมีการออกแบบให้กระแสอากาศที่มาจากถนนไหลไปตามแนวพื้นที่ว่างเกิดจากการปลูกต้นไม้ที่มีใบขนาดเล็กทรงโปร่งเป็นแนวดักลมเมื่ออากาศเคลื่อนที่ช้าลงทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กถูกดักจับด้วยใบพืชที่มีประสิทธิภาพในการลด PM2.5 ส่วนความชื้นจากการคายน้ำของพืชบริเวณนั้นยังช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับฝุ่นละลองขนาดเล็กให้เคลื่อนที่ลดลง เพิ่มเวลาให้พืชช่วยดักจับฝุ่นขนาดเล็กได้

นอกจากนี้ภายในสวนยังมี โซนจัดวางต้นไม้กันฝุ่น ได้แก่ โซนลิ้นมังกรสู้กลิ่น พันธุ์ไม้อวบน้ำและพืชในกลุ่ม อาทิ ต้นลิ้นมังกร ต้นสับปะรดสี ที่มีสรรพคุณช่วยลดสารระเหย กลิ่นเหม็นและฝุ่นได้ดี และยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในเวลากลางคืนด้วย ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า ต้นลิ้นมังกร สามารถลดฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 40 ในระบบปิดขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ความเข้มข้น PM2.5 เริ่มต้นที่ 450 – 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โซนพันธุ์ไม้มีขนลด PM ต้นไม้หลายชนิดมีใบที่มีขนที่ช่วยในการจับตรึง ฝุ่นละอองในอากาศได้ โดยพืชที่มีลักษณะดังกล่าว อาทิ ต้นพรมกำมะหยี่ และต้นพรมญี่ปุ่น โดยต้นพรมกำมะหยี่ สามารถลดฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 60 ในระบบปิดขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ความเข้มข้น PM2.5 เริ่มต้นที่ 450–500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และโซนพันธุ์พืชลดมลพิษ อาทิ ต้นกมาก ต้นเดหลี ต้นพลูปีกนก ต้นคล้ากาเหว่าลาย ต้นกวักมรกต ต้นคล้าแววมยุรา และต้นคล้านกยูง ซึ่งจากงานวิจัยพันธุ์พืชลดมลพิษพบว่า พืชจำนวนมากสามารถช่วยบำบัดฝุ่นและมลพิษอากาศอื่นๆ ได้ดี อีกด้วย

ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำมาโชว์ในวันนี้ เป็นผลงานที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก (วช.) ที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในทุกพื้นที่ “เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดี”


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!