ข่าวปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกิดขึ้น มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และวิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อองค์กรตำรวจ หากจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุรากเหง้าของปัญหา และเหตุใดในประเทศที่เจริญแล้วจึงไม่ค่อยมีปัญหาเช่นนี้ ในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และเคยไปฝึกอบรมวิชาการตำรวจในต่างประเทศ ขอนำประสบการณ์มาถ่ายทอดดังนี้
ปัญหาการประพฤติผิดนอกลู่นอกทางของตำรวจ เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่รัฐบาลไม่เห็นความสำคัญในคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของตำรวจเท่าที่ควร ให้เงินเดือนและค่าตอบแทนตำรวจไม่เหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบ ขาดระบบการตรวจสอบการทุจริตที่เข้มแข็ง อีกทั้งองค์กรถูกแทรกแซงจากอำนาจภายนอก เส้นทางการเจริญก้าวหน้าในอาชีพ ( Career Path ) ไม่มั่นคง จึงทำให้ตำรวจที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ขาดจิตสำนึก ขาดการยับยั้งชั่งใจ เมื่อมีช่องโอกาส จึงตัดสินใจกระทำผิด อีกทั้งทำให้มีตำรวจบางนายกระทำทุกอย่างเพื่อให้ตนบรรลุเป้าหมายโดยไม่สนใจคุณธรรม เกียรติยศ ศักดิ์ศรีของความเป็นตำรวจ สภาพเช่นนี้เปรียบเสมือนโรคร้ายในองค์กร ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานในภาพรวม
ในทางทฤษฎี องค์กรตำรวจและหน่วยงานที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (law Enforcement Agency) ถือว่าเป็นหน่วยงานพิเศษ มีอำนาจในการตรวจค้น จับกุม คุมขัง อันมีผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของบุคคล บุคลากรในสายงานนี้ ต้องได้รับการปลูกฝังด้านคุณธรรม ( Super Ego )อย่างจริงจัง เพื่อใช้ดุลพินิจอย่างตรงไปตรงมา และต้องมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ดังนั้น สมควรได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ สามารถรักษาเกียรติของตนอย่างสมศักดิ์ศรี โดยมิต้องไปแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ และในขณะเดียวกันจะต้องมีระบบตรวจสอบการทุจริตที่เข้มแข็ง และมีกฎหมายลงโทษการอย่างรุนแรง รวดเร็ว และแน่นอน เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้ทุจริต
ในทางปฏิบัติแนวคิดทฤษฎีนี้ ถูกนำไปใช้ในหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกาและบางประเทศในทวีปเอเชีย ดังนั้นรัฐบาลจะทุ่มเทงบประมาณอย่างเต็มที่ในการจัดหาบุคลากรให้เพียงพอกับปริมาณงาน ให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา การฝึกอบรมหรือพัฒนาบุคลากร และให้ค่าตอบแทน เงินเดือนที่สูง จัดอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย มีสมรรถนะสูงให้มีจำนวนเพียงพอ และมีระบบการเลื่อนตำแหน่ง (POLICE PROMOTION SYSTEM ) ที่ชัดเจนโปร่งใสและเป็นธรรม มีเส้นทางการเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ มีระบบสวัสดิการที่ดี เช่นที่พักอาศัย มีระบบการประกันชีวิตและสุขภาพ มีเงินค่าล่วงเวลา โบนัส กล่าวได้ว่าแม้ว่ากำลังพลในหน่วยงานจะมีเท่าใด ตำรวจไม่ว่าจะชั้นยศใด ตำแหน่งใด หรืออยู่ในหน่วยใด พื้นที่ใด ตำรวจทุกคนต่างก็ได้รับการดูแล สนับสนุนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพอย่างเหมาะสมและเพียงพอ มีความสุขตามอัตภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแรงจูงใจให้ตำรวจปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในอารยประเทศ อาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน มีความมั่งคงทางเศรษฐกิจ ประกอบกับในระบบตำรวจมีการตรวจสอบการทุจริตและการลงโทษที่จริงจัง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของตำรวจมีน้อยมาก
วิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหานี้จากต้นเหตุรากเหง้าของปัญหา โดยต้องทุ่มเทงบประมาณลงทุนกับองค์กรตำรวจไทย ซึ่งมีกำลังพลประมาณ 230,000 คน เช่นเดียวกับอารยประเทศ ที่ปฏิบัติต่อบุคลากรในหน่วยงานที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย โดยปรับเงินเดือนและค่าตอบแทนให้สูงขึ้น เพิ่มอัตรากำลังให้เพียงพอกับปริมาณงาน จัดอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย และมีการพัฒนาด้านการศึกษาและคุณธรรม มีระบบการเลื่อนตำแหน่งที่ชัดเจน และเป็นธรรม ตลอดจนมีระบบตรวจสอบการทุจริตที่เข็มแข็ง อีกทั้งมีการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง หากรัฐลงทุนเช่นนี้ จะทำให้ตำรวจมีจำนวนที่เพียงพอ มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน ตำรวจมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีคุณธรรม มีความภาคภูมิใจในวิชาชีพ สามารถรักษาเกียรติและศักดิ์ศรี ไม่ทุจริตประพฤติมิชอบ และไม่กล้ากระทำผิด
สรุปได้ว่า การลงทุนกับตำรวจในระดับมาตรฐานสากลเป็นสิ่งจำเป็น ควรค่าและคุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะเมื่อตำรวจได้รับการดูแลจากรัฐในระดับที่สูงขึ้น ตำรวจก็จะต้องเพิ่มประสิทธิ ภาพในการปฏิบัติงาน ดังนั้น ประชากร 66 ล้านคน จะได้รับการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในระดับมาตรฐานสากลเช่นกัน และที่สำคัญ สังคมในชาติจะเป็นสังคมที่น่าอยู่และปลอดภัย เป็นการส่งเสริมบรรยากาศการค้าการลงทุน อันนำไปสู่ความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วต่อไป
รัฐบาล ลงทุน สนับสนุนกับตำรวจในระดับมาตรฐานสากล
- ปรับเงินเดือนและค่าตอบแทนตำรวจให้สูงขึ้น จัดระบบสวัสดิการที่ดี
- เพิ่มจำนวนบุคลากรให้เพียงพอกับปริมาณงาน
- จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย มีสมรรถนะที่สูง และมีจำนวนเพียงพอ
- มีระบบการเลื่อนตำแหน่งที่ชัดเจน และเป็นธรรม (POLICE PROMOTION SYSTEM )
- พัฒนาระบบการศึกษา การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมตำรวจ
- พัฒนาระบบการตรวจสอบการทุจริตที่เข้มแข็ง
- มีกฎหมายลงโทษอย่างรุนแรง (Severity) รวดเร็ว (Swiftness) และแน่นอน (Certainty)
เจ้าหน้าที่ตำรวจ
- ตำรวจมีจำนวนที่เพียงพอ มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน
- มีคุณภาพชีวิตที่ดี
- มีคุณธรรม และจิตสำนึกในความเป็นตำรวจ
- มีเส้นทางการเจริญก้าวหน้าในอาชีพ ( Career Path ) ที่มั่นคง
- มีขวัญและกำลังใจ ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
- ประพฤติตนอยู่ในระเบียบแบบแผน ไม่ทุจริต ประพฤติมิชอบ และไม่กล้ากระทำผิด
ประชาชนและสังคม
- ประชาชน มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
- สังคมสงบสุข ปลอดภัย
ศาสตราจารย์ พลตำรวจโท ดร.พิศาล มุขแจ้ง