พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นาย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค (Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ พลเรือเอก จอห์น ซี. อากีลีโน (John C. Aquilino) ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๐๒๓
วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นาย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค (Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ พลเรือเอก จอห์น ซี. อากีลีโน (John C. Aquilino) ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๐๒๓ ณ สถานีการบิน กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ จังหวัดระยอง โดยมี เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย เข้าร่วมพิธีฯ
การฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๐๒๓ เป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทย และกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี การฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๐๒๓ ในปีนี้ เป็นครั้งที่ ๔๒ โดยมีประเทศเข้าร่วมการฝึกหลักจำนวน ๗ ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชน จำนวน ๓ ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย และออสเตรเลีย ประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation Team) จำนวน ๑๐ ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ แคนาดา ฝรั่งเศส มองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ฟิจิ สหราชอาณาจักร และบรูไน
สำหรับประเทศที่เข้าร่วมในโครงการสังเกตการณ์ฝึก (Combined Observer Liaison Team) : COLT) จำนวน ๑๐ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว บราซิล ปากีสถาน เวียดนาม เยอรมนี สวีเดน สาธารณรัฐเฮลเลนิก คูเวต และศรีลังกา รวมทั้งสิ้น ๓๐ ประเทศ ยอดผู้เข้าร่วมการฝึกฯ จำนวน ๗,๓๙๔ นาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารที่ดี ระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึกฯ และเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการอำนวยการยุทธ์ร่วมและผสม โดยการประยุกต์ ใช้กำลังรบในสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ อีกทั้งเพื่อฝึกการใช้ระเบียบปฏิบัติประจำกองกำลังผสมนานาชาติ ซึ่งการฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๐๒๓ ในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จึงได้กำหนดแผนการฝึกให้กลับมาฝึกเต็มรูปแบบเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม กองทัพไทย ยังคงใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มข้น โดยกำหนดการฝึกฯ ระหว่างวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ถึง ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๖ ประกอบด้วยการฝึกที่สำคัญ ดังนี้
๑. การฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) เป็นการฝึกอำนวยการยุทธ์ของกำลังรบขนาดใหญ่ เพื่อรองรับภัยคุกคามทุกรูปแบบ ในทุกมิติ (All Domain Operations) ได้แก่ ทางบก ทางทะเล ทางอากาศ ทางด้านไซเบอร์ และทางอวกาศ สำหรับการฝึกด้าน Cyber เป็นการฝึกการวางแผน โดยเน้นวิธีการตรวจสอบภัยคุกคามเบื้องต้น และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ต่อระบบอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน สำหรับในปีนี้ เป็นปีแรกในการนำการฝึกทางด้านอวกาศ เข้ามาร่วมในการฝึกการวางแผนของฝ่ายเสนาธิการร่วม/ผสม เพื่อให้สามารถเข้าใจถึงผลกระทบในส่วนของการฝึกด้านอวกาศ (Space) โดยนำผลกระทบจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอวกาศ ที่มีผลต่อการปฏิบัติการทางทหารในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ฝ่ายอำนวยการได้วางแผนรองรับ และใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น ปรากฏการณ์พายุสุริยะที่มีผลต่อระบบการสื่อสารสัญญาณดาวเทียม โดยมีหน่วยงานด้านอวกาศทั้งทางทหาร และพลเรือน ของไทย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ให้การสนับสนุนข้อมูล และการปฏิบัติในด้านต่าง ๆ
๒. โครงการช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian Civic Assistance: HCA) ได้แก่ โครงการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์สำหรับโรงเรียนในพื้นที่การฝึก จำนวน ๖ พื้นที่ การฝึกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ ประกอบด้วย การฝึกแก้ปัญหาบนโต๊ะ (HADR-TTX) ในหัวข้อบทบาททางทหารในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภายใต้กลไกลการตอบสนองในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ เพื่อเตรียมการฝึกสาธิตฯ (HADR-Demo) ซึ่งเป็นการฝึกสาธิตแนวทางในการปฏิบัติเป็นสถานี ได้แก่ การค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัย การแพทย์ฉุกเฉิน การส่งกลับสายแพทย์ สารเคมีรั่วไหล และการดับเพลิง ของประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการฝึกฯ
๓. การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise: FTX) ประกอบด้วย การฝึกแลกเปลี่ยน CTX และการฝึกภาคสนามของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การฝึกการเข้าพื้นที่ปฏิบัติการ (Joint Forcible Entry Operations: JFEO) ประกอบด้วย การฝึกการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ การอพยพพลเรือนจากพื้นที่ความขัดแย้ง และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง
การฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๐๒๓ นอกจากจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกในส่วนของกองทัพไทย และกองทัพมิตรประเทศ โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ ความชำนาญ และเทคโนโลยีทางทหาร รวมทั้งเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับกำลังพลของกองทัพไทย และกองทัพมิตรประเทศ ในการปฏิบัติการร่วมและผสมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการงานด้านการบรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างทหารไทย และทหารมิตรประเทศ กับประชาชนในพื้นที่การฝึกฯ และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตามิตรประเทศและประชาคมโลกต่อไป
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการฝึกร่วม คอบร้าโกลด์ ๒๓
สำนักข่าวความมั่นคง รายงาน