วัดขุนโขลง โบราณสถานทางประวัติศาสตร์ สู่เรื่องราว พ่อท่านทิด แม่ชีนมเหล็ก แม่ชีผมหอม และปริศนาลายแทงขุมทรัพย์ โดย ภูมิ จิระเดชวงศ์ วัดขุนโขลง หรือ โบราณสถานบ้านขุนโขลง ตั้งอยู่ที่ ๓ ต.หัวตะพาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นวัดเก่าแก่ประจำท้องถิ่น ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ปี มีหลักฐานสำคัญที่ยืนยันความเก่าแก่ของวัด ๓ อย่าง ได้แก่ ๑.ซากเจดีย์โบราณ ขนาด ๖ x ๖ เมตร ๒.พระพุทธรูป แกะสลักจากหินทรายแดง ขนาดหน้าตักราว ๔๐ นิ้ว ๒ องค์ ๓.บัวบรรจุอัฐิพ่อท่านทิด อดีตเจ้าอาวาสวัดขุนโขลง นอกเหนือไปจากโบราณสถาน – โบราณวัตถุ ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญของวัดแล้ว ยังมีสระน้ำโบราณ ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของอาณาเขตวัด รวมถึงก้อนอิฐโบราณจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่พบในวัดมาแต่เดิม สำหรับประวัติความเป็นมาของวัดขุนโขลง ที่นำเสนอในบทความนี้นั้น เป็นประวัติวัดในภาคมุขปาฐะหรือภาคสำนวนชาวบ้าน ซึ่งผู้เขียนได้ขอข้อมูลมาจาก บุคคล ๒ ท่าน ซึ่งเป็นชาวบ้านขุนโขลงมาตั้งแต่กำเนิด คือ ๑.พระอาจารย์มณฑล ขันติสโร เจ้าอาวาสวัดขุนโขลงรูปปัจจุบัน มีภูมิกำเนิดเป็นชาวขุนโขลง หรือ กล่าวได้ว่าเป็นคนในพื้นที่ ๒.นายผิน มัจฉาชาญ บุคคลที่อาศัยอยู่ใกล้กับวัดขุนโขลงมาก่อนยุคที่จะพัฒนา เรื่องราวที่ได้นำมาบันทึกนี่ เป็นเรื่องในสำนวนชาวบ้าน หรือ ภาคมุขปาฐะ ซึ่งผู้ให้ข้อมูลทั้งสองท่าน ได้ประสบพบเจอด้วยตนเอง และ ได้รับเรื่องราวสืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่อาศัยในบริเวณย่านขุนโขลงมายาวนานหลายสิบปี เพื่อเผยแพร่เรื่องราวความเป็นมาของวัดขุนโขลง นับตั้งแต่ยุคอดีต จนถึงยุคปัจจุบัน จึงขอนำเสนอเป็นหัวข้อดังต่อไปนี้
ความเป็นมาของคำว่าขุนโขลง และ พื้นที่ตำบลหัวตะพาน ตามสำนวนมุขปาฐะชาวขุนโขลง ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คราวที่พระเจ้าปดุงแห่งอาณาจักรอังวะยกกองทัพใหญ่ ๙ ทัพเข้าโจมตีอาณาจักรสยามนั้น กองทัพสายที่หนึ่ง ได้ยกทัพตีหัวเมืองทางตอนใต้ของสยาม โดยกองทัพอังวะ หลังจากตีหัวเมืองทางตอนบนได้หมด จึงยกทัพเข้าเมืองในนครศรีธรรมราช เนื่องจากการยกทัพมาของพม่า รู้เข้าถึงหูของเจ้าพระยานครฯ ท่านฝ่ายเจ้าพระยานครจึงส่งกองทัพออกสกัดทัพพม่าที่ “บ้านหน้าทัพ” โดยได้แบ่งกองทัพส่วนหนึ่งไปที่ วัดขุนโขลง เนื่องจากกองทัพที่มาตั้งยังบ้านขุนโขลง มีกองช้างมาด้วย กองช้างเหล่านั้น ได้ทำอู่สำหรับอาบน้ำช้างที่ริมคลองชุมขลิงทางทิศตะวันตกสถานที่แห่งนี้ จึงขนานนามว่า #ขุนโขลง นับแต่นั้นมา
เมื่อกองทัพอังวะพบกับกองทัพเมืองนคร ในจุดบริเวณไม่ห่างจากวัดขุนโขลงนัก ก็เกิดการต่อสู้ตะลุมบอนขนานใหญ่ ทำให้มีแต่ซากศพเกลื่อนสนามรบ ต่อมาชาวบ้านเรียกขานสมรภูมิรบว่า “ บ้านหัวพ่าน ” หมายถึงจำนวนศพนอนตายกันมากมาย หันไปทางไหนพบเจอแต่หัวของศพ ปัจจุบันคำว่าหัวพ่าน ได้กลายมาเป็นคำว่า หัวตะพาน คือชื่อตำบล เมื่อศพมีจำนวนมากเกินกว่าจะฌาปนกิจหมด ศพที่เน่าเหม็นก็มีน้ำเลือดน้ำหนองไหลลงไปยังหนองน้ำไกลๆ สมรภูมิ เรียกกันว่า “หนองน้ำเน่า ” ในกาลปัจจุบัน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น หนองน้ำขาว วัดขุนโขลง
วัดขุนโขลงเป็นวัดที่ก่อตั้งมานาน สันนิษฐานจากศิลปะของโบราณสถาน และโบราณวัตถุแล้ว คงไม่เกินช่วงยุคราชวงศ์บ้านพลูหลวง หรือ กรุงศรีอยุธยาตอนปลายวัดขุนโขลงจะก่อตั้งโดยใครนั้น ประวัติในส่วนนี้ไม่ปรากฏตั้งแต่ต้น มาปรากฏเรื่องราวของวัดในสำนวนมุขปาฐะ ในช่วงสงครามเก้าทัพ และ ปรากฏเรื่องราวการดำรงสัง ขารของพ่อท่านทิด อดีตเจ้าอาวาสวัดขุนโขลง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในยุคที่วัดขุนโขลงรุ่งเรือง ก่อนที่วัดจะร้างลงภายหลังจากการมรณภาพของท่าน ซึ่งสิ่งที่ปรากฎเป็นโบราณสถาน และโบราณวัตถุของวัดขุนโขลงนั้น ประกอบไปด้วย
- ซากเจดีย์ ขนาด ๖ x ๖ เมตร เป็นฐานเจดีย์เดิมที่พังเกินกว่าจะกำหนดรูปแบบทางสถาปัตยกรรมได้แล้ว ในอดีตเคยถูกนักล่าสมบัติขุดค้นหลายครั้ง แต่ก็ไม่พบสิ่งใด ปัจจุบันได้มีการกั้นอาณาเขตเพื่อไม่ให้มีการทำลายอีก
- พระพุทธรูป แกะสลักจากหินทรายแดง ขนาดหน้าตักประมาณ ๔๐ นิ้ว ( ประมาณ ๑ เมตรเศษ ) เป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา สกุลช่างพื้นเมือง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดขุนโขลง ซึ่งดูแลดย พระอาจารย์มณฑล เจ้าอาวาสวัดขุนโขลง
- บัวบรรจุอัฐิพ่อท่านทิด อยู่ทางทิศตะวันตกของซากเจดีย์ เป็นบัวที่ยังสามารถเห็นลวดลาย และรูปทรงทางสถาปัตยกรรมอยู่บ้าง แต่สภาพที่เห็นในปัจจุบัน นิวอิฐที่ก่อชั้นบนของบัวได้แยกตัวออก เสี่ยงต่อการชำรุดหักพังอย่างมาก
- สระน้ำโบราณ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอาณาเขตวัด เป็นสระน้ำเก่าแก่ที่มีมาคู่วัด ภายหลังสระได้แห้งแล้ง ตื้นเขินลง ปัจจุบันได้มีการขุดลอกสระขึ้นใหม่ สำหรับใช้งานอีกครั้ง
- แนวอิฐโบราณ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยจากการขุดสำรวจโดยสำนักศิลปากร นครศรีธรรมราช (ในยุคสมัยนั้น) มีการพบแนวอิฐใต้ดิน แต่ทางคณะขุดค้นเกรงจะมีผลกระทบต่อโบราณสถาน จึงได้ทำการฝังกลุ่มแนวอิฐ ไม่ได้ทำการบูรณะต่อ
วัดขุนโขลงเป็นที่เคารพยำเกรงของชาวบ้านใน ต.หัวตะพาน และละแวกใกล้เคียงอย่างมาก นับตั้งแต่โบราณกาล ผู้ที่เดินทางผ่านวัดขุนโขลง ไม่ว่าจะทางบกหรือทางเรือ จะต้องทำการบูชาต่อดวงจิตที่สถิตรักษาวัด อันประกอบด้วย พ่อท่านทิด แม่ชีนมเหล็ก แม่ชีผมหอม ทวดโขลงทอง เจ้านายขี้เหล็ก เจ้านายหวันตก หากเป็นคนทั่วไป หรือ ขบวนค้าขายเดินทางผ่าน ต้องวางหมากพลูดอกไม้ เอ่ยชื่อบูชาทั้งหกท่าน หากเป็นคณะหนังตะลุง คณะโนรา หรือ คณะศิลปินพื้นบ้าน จะต้องตีเครื่องถวาย หรือ รำถวาย มิฉะนั้นจะเกิดอาถรรพ์กับผู้ที่สัญจรผ่าน เช่น เกิดเจ็บป่วยกะทันหัน หรือเกิดอุปสรรคทำให้เดินทางต่อไม่ได้ จนกว่าจะเข้ามาบอกไหว้ขอขมา
สำหรับประเพณีที่มีสืบทอดกันมาในชาวบ้านขุนโขลง ในเดือน ๕ จะมีการทำบุญวัดว่าง ในเดือน ๑๐ จะมีการทำบุญสารทเดือนสิบ ในส่วนการแก้บนบูชาพ่อท่านทิดและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดขุนโขลง ในอดีตจะนิยมแก้บนด้วย ชนวัว ชกมวย หนังตะลุง และ โนรา ส่วนการบูชาโดยทั่วไป นิยมถวายหมากพลู และปะทัด เมื่อใดที่ชาวขุนโขลงบนบานต่อพ่อท่านทิด และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดขุนโขลงแล้วสมหวัง มักจะมาจุดปะทัดแก้บนกันเสมอ วัดขุนโขลง เป็นวัดโบราณ ที่มีการผูกลายแทงเอาไว้ เพื่อรักษาสมบัติของพระศาสนา หรืออีกนัยหนึ่ง คือเพื่อบอกอาณาเขต และความเป็นมาของวัด โดยมีกลอนผูกไว้ความว่า “ วัดขุนโขลง มีต้นโหมรงโพรงวัว สาวน้อยหม้ายผัว นั่งชุมหัวร้องไห้ วัดเข้าสามศอก วันออกสามวา ถ้าไม่รู้ไปถามรอกกับถามกา ถ้าใครแก้ได้ ให้ไปทางไม่รู้มา ”
ซึ่งนายผิน ชาญมัจฉา ได้ขยายความของแต่ละข้อความเอาไว้ ดังนี้
- วัดขุนโขลง มีต้นโหมรงโพรงวัว ในอดีตวัดขุนโขลง เคยมีต้นโหมรง (ภาษาทางการเรียก ต้นสำโรง) งอกอยู่ทางทิศเหนือของวัด เป็นตอต้นโหมรงขนาดใหญ่ มีโพรงที่วัวสามารถลอดเข้าไปได้ ภายหลังตอต้นโหมรงดังกล่าวได้ถูกขุด ออกไปช่วงวาตภัยปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เพราะได้รับผลกระทบจนชำรุดหมด
- สาวน้อยหม้ายผัว (ไม่มีผัว) นั่งชุมหัวร้องไห้ สาวน้อยไม่มีผัวในคำทายท่อนนี้ สามารถแปลได้สองทาง ทางแรก หมายถึง บรรดาแม่หม้ายที่สามีตายในสงคราม มานั่งร้องไห้เมื่อการรบสิ้นสุดแล้ว ส่วนทางที่สอง คือ แม่ชีนมเหล็ก และ แม่ชีผมหอม ที่ต้องเสียใจเพราะไม่อาจทำให้วัดเจริญรุ่งเรืองได้
- วัดเข้าสามศอก วัดออกสามวา ในคำทายข้อนี้ นายผินให้ข้อสังเกตว่า คงหมาย ถึงแนวอิฐที่เป็นกำแพงแก้วของวัด ซึ่งแนวอิฐดังกล่าว ปัจจุบันถูกถมอยู่ใต้ดิน ไม่มีการขุดเพื่อสำรวจอีก หลังจากปี พ.ศ. ๒๕๓๗
- ถ้าไม่รู้ ให้ไปถามรอกกับถามกา ในคำทายส่วนนี้ ไม่ได้หมายถึงสัตว์ นายผิน บอกว่าทางเข้าวัดเดิม ทางซ้ายมือ จะมีต้นลูกกา (ภาษาทางการเรียก ต้นมะ กา ส่วนทางขวามือ จะมีต้นท้อนรอก (ภาษาทางการเรียก ต้นสะท้อนรอก)
- ถ้าใครแก้ได้ ให้ไปทางไม่รู้มา
ในส่วนนี้นายผิน ยังสันนิษฐานได้ไม่แน่ชัด อาจเป็นไปได้ที่เป็นทางเข้าวัดเดิม หรือ เป็นสระน้ำประจำวัด #ความเป็นมาของแม่ชีนมเหล็ก – แม่ชีผมหอม ประวัติของแม่ชีนมเหล็ก และ แม่ชีผมหอม ในฉบับมุขปาฐะของชาวบ้านขุนโขลงและบริเวณโดยรอบ ได้เล่าแตกต่างจากเรื่องราวของแม่ชีนมเหล็กสำนวนตำนานพระพวย โดยเรื่องราวได้เกิดขึ้นสมัยที่พ่อท่านทิดยังคงมีชีวิตอยู่ พื้นที่บ้านหัวพ่านในยุคนั้น ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านหัวตะพาน มีขุนหัวตะพานเป็นกำนันประจำตำบล ขุนหัวตะพานมีบุตรสาว ๒ คน คือแม่ชีนมเหล็ก และ แม่ชีผมหอม ตอนที่บุตรสาวของขุนหัวตะพานยังเด็ก มักจะเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ ขุนหัวตะพานจึงพาบุตรสาวไปถวายเป็นบุตรบุญธรรมของพ่อท่านทิด และได้บนบานสานกล่าวว่า หากบุตรสาวทั้งสองหายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว เมื่อบุตรสาวทั้งสองเจริญวัยจะให้บวชชีเป็นลูกศิษย์พ่อท่านทิด เมื่อบุตรสาวของขุนหัวตะพานเจริญวัย ปรากฏว่าตัวกำนันและบุตรสาวได้ลืมในสิ่งที่บนบานไว้ ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยอีกครั้ง เมื่อกำนันนึกถึงเรื่องที่บนบานได้ จึงนำบุตรสาวไปหาพ่อท่านทิดเพื่อบวชชีแก้บน พ่อท่านทิดจึงให้แม่ชีนมเหล็กพี่สาวบวชเป็นชีพราหมณ์ (บวชชีถือศีล ๘ แต่ไว้ผมได้), ส่วนแม่ชีผมหอม ได้ขออนุญาต บิดาบวชเป็นชีพราหมณ์อีกคน เพื่อป้องกันคำครหาของชาวบ้าน, พ่อท่านทิด จึงบวชให้บุตรบุญธรรมทั้งสอง โดยแม่ชีสองพี่น้อง มีกุฎิอยู่ที่ริมสระน้ำทางตะวันตกของวัด แม่ชีนมเหล็ก แม่ชีผมหอม ได้ประพฤติตนอยู่ในศีลอุโบสถ ( ศีล ๘ ) อย่างแรงกล้า กระทั่งพ่อท่านทิดใกล้มรณภาพ พ่อท่านทิดจึงสั่งเสียแก่แม่ชีนมเหล็ก และ แม่ชีผมหอม หลังจากท่านมรณภาพแล้ว ให้ช่วยอยู่รักษาวัด คอยดูแลวัด อย่าได้ละทิ้งวัดแม่ชีทั้งสองรับปาก เมื่อเสร็จจากการปลงศพและบรรจุอัฐิพ่อท่านทิดเข้าบัวแล้ว แม่ชีนมเหล็ก แม่ชีผมหอม อยู่อาศัยรักษาวัด จนกระทั่งแม่ชีนมเหล็กถึงแก่กรรม เมื่อฌาปน กิจเสร็จแล้ว พบว่าชิ้นเนื้อส่วนทรวงอกทั้งสองด้านกลับไม่ไหม้ไฟ ชาวบ้านจึงเรียกแม่ชีผู้พี่ว่า “ แม่ชีนมเหล็ก ” ภายหลังเมื่อวัดซบเซาลง แม่ชีผมหอมและชาวบ้านจึงเอาชิ้นส่วนที่ทรวงอกที่แข็งเป็นหินนำไปฝังซ่อนไว้ภายในบริเวณวัด ผ่านไปหลายปี แม่ชีผมหอม หรือ แม่ชีผู้น้องที่ดูแลวัดได้ถึงแก่กรรมลง ชาวบ้านได้ช่วยกันฌาปนกิจ ปรากฏว่าผมบนหัวแม่ชีผู้น้องทั้งหมด กลับไม่ไหม้ไฟ ซ้ำยังมีกลิ่นหอมเหมือนดอกพิกุล ชาวบ้านจึงเรียกแม่ชีผู้น้องว่า “ แม่ชีผมหอม ” และได้รักษาผมที่ไม่ไหม้ไฟทั้งหมดให้อยู่คู่กับวัด แต่ภายหลังก็ได้มีการนำเส้นผมของแม่ชีผมหอมไปซ่อนอีก จนปัจจุบันยังไม่มีผู้คนพบชิ้นส่วนของแม่ชีนมเหล็ก และ แม่ชีผมหอม แต่เป็นที่รับรู้กันว่า แม่ชีนมเหล็ก และ แม่ชีผมหอม เป็นอารักษ์ที่คอยดูแลวัดขุนโขลงมาโดยตลอด เมื่อมีการประกอบพิธีใดๆ ภายในวัด จะต้องเอ่ยชื่อแม่ชีนมเหล็ก และแม่ชีผมหอม มารับ เครื่องบูชาด้วยเสมอ เมื่อวัดขุนโขลงร้าง
วัดขุนโขลงได้เริ่มซบเซาลงหลังจากการมรณภาพของพ่อท่านทิด ในช่วงนั้นไม่อาจทราบได้ว่า พระที่เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสเป็นท่านใด ทราบแต่เพียงมีแม่ชีสองพี่น้องเป็นผู้ดูแลวัด จนกระทั่งแม่ชีถึงแก่กรรมหมด วัดขุนโขลงก็ร้างลง เพื่อป้องกันไม่ให้สมบัติของวัดแต่เดิมถูกโจรกรรม กำนันหวาน กำนันตำบลหัวตะพานในขณะนั้น จึงได้ทำการยกเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดขุนโขลงไปฝากวัดต่างๆ พระหินทรายแดงคู่วัดทั้งสององค์ ถูกเชิญไปวัดสระประดิษฐ์ ภายหลังอีกองค์ถูกเชิญไปไว้ถ้ำแห่งหนึ่งในอำเภอนบพิตำ พระลากประจำวัด ตำราหนังสือบุดประจำวัด รวมถึงเครื่องภาชนะถ้วยชามต่างๆ ชาวบ้านได้นำไปฝากไว้ที่วัดสโมสร ( วัดด่าน ) ซึ่งอยู่ห่างจากวัดขุนโขลงราวหนึ่งกิโลเศษ ส่วนกุฎิพ่อท่านทิดเดิม และกุฎิอื่นๆ ที่ยังคงสภาพดี ชาวบ้านได้ช่วยกันชักลากกุฎิไปยังวัดสระประดิษฐ์ เมื่อวัดขุนโขลงร้าง ขาดพระมาจำพรรษา พื้นในวัดได้กลายเป็นสุสานของตำบล ไม่ว่าศพจะตายจากสาเหตุอะไร มักจะนำมาฝัง หรือ มาเผาที่วัดขุนโขลงเสมอ สภาพของวัดจึงกลายเป็นป่าช้าประจำตำบล จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ชาวบ้านไม่ยอมไปวัดขุนโขลงหากไม่จำเป็น เพราะชาวบ้านในยุคนั้นเชื่อถือเรื่องลี้ลับเป็นอย่างมาก หากไม่ใช่การเข้าไปบนบานสานกล่าว หรือการเข้าไปแก้บน ต่อพ่อท่านทิด และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดแล้ว จะไม่มีใครยอมไปวัดขุนโขลงเป็นอันขาด จากความหวาดกลัวของชาวบ้านในจุดนี้ เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพ นักขุดกรุ เข้าไปขุดค้นของมีค่า แต่นักขุดเหล่านั้นก็ไม่ได้อะไรกลับไป แต่ก
ธีรศักดิ์ อักษรกูล นครศรีธรรมราช