วช. นำนวัตกรรมชีวภัณฑ์แบบสารละลายและแบบเม็ด ผลผลิตจากงานวิจัย ช่วยแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราพืชเศรษฐกิจหลักภาคใต้
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการประยุกต์ใช้นวัตกรรมสารชีวภัณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ ที่ (วช.) ให้การสนับสนุนทุนวิจัย การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง (ผวช.) ได้มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม พร้อม ด้วยนายสุพจน์ อาวาส ผู้ทรงคุณวุฒิ (วช.) และ สื่อมวลชน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา,นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง,นายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ,นางสาวขวัญจิต เคียงตระกูล ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาเศรษฐกิจ กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.),นายอับดุลฮาฟิซ สะตีมือมะ เกษตรอำเภอกรงปินัง,นายกอเซ็ง ยูโซ๊ะ กำนัน ตำบลสะเอะ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา,ผู้นำชุมชน และชาวบ้านให้การต้อนรับ ณ บ้านแปแจง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา
นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า
(วช.) เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารทุนวิจัย และนวัตกรรมของประเทศโดยมุ่งเน้นผลสำเร็จจากการวิจัย ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ และเพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ (วช.) เห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจ ของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อดำเนินการพัฒนานวัตกรรมชีวภัณฑ์แบบสารละลายและแบบเม็ดเพื่อแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่ที่ทำให้ใบยางพาราร่วง เพื่อให้เกษตรกรสามารถกลับไปกรีดยางและช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพน้ำยางและถ่ายทอดผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ โดยใช้พื้นที่โครงการวิจัย คือ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งเกิดผลผลิตที่เป็นองค์ความรู้ทั้งด้านการเกษตร นวัตกรรมสารชีวภัณฑ์ในรูปแบบสารละลายและแบบเม็ดเพื่อการใช้งานในแปลงยางที่เกิดปัญหาโรคใบร่วง เป็นการยกระดับรายได้ครัวเรือนจากผลผลิตยางพารา ของเกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง กล่าวว่า โรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพารา เป็นโรคที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรชาวสวนยางพาราเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกยางพาราในภาคใต้ ปัจจุบันการเกิดโรคในพื้นที่อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา มีการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ สาเหตุของโรคมาจากเชื้อราที่เข้าทำลายใบยางแก่ และใบยางอ่อน ซึ่งอาการจะเป็นจุดแผลบนใบ ใบจะเหลืองและร่วงในที่สุด ทำให้ผลิตน้ำยางได้ลดลง จากปัญหาดังกล่าวคณะผู้วิจัยจึงลงพื้นที่สำรวจพื้นที่แปลงยางเพื่อทำการวิจัย และเก็บข้อมูล เบื้องต้นพบว่า โรคใบร่วงชนิดใหม่ ทำให้ผลผลิตของยางพาราลดลง 30–50% หรือขาดรายได้ 4,000 บาทต่อไรต่อปี คิดเป็น 9.6 หมื่นล้านบาทต่อปีของผลผลิตทั้งประเทศ ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงยาง เบื้องต้น เกษตรกรได้ฉีดพ่นยาด้วยสารเคมีจากเรือนยอดด้วยโดรน ทำให้เกิดการแพร่กระจายในอากาศและสิ่งแวดล้อม จุดนี้คณะวิจัยจึงเริ่มคิดกรรมวิธีการควบคุมโรคใบร่วงด้วย สารชีวภัณฑ์ในรูปแบบสารละลายและแบบเม็ด ที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้เอง ซึ่งสารชีวภัณฑ์ที่เกษตรกรใช้ต้องมีคุณสมบัติสามารถควบคุมเชื้อด้วยวิธีการเคลื่อนที่ของสารธรรมชาติอนุภาคเล็กสู่ลำต้นและกระจายทุกส่วนของต้นยางเพื่อกำจัดต้นตอและควบคุมเชื้อโรคได้อย่างเบ็ดเสร็จ อีกทั้ง สารชีวภัณฑ์นี้ยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ต้นยางเพื่อต้านเชื้อได้อีกด้วย
การถ่ายทอดผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ การใช้นวัตกรรมสารชีวภัณฑ์ในรูปแบบสารละลายและในรูปแบบเม็ดต่อการแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ คณะผู้วิจัยเลือกพื้นที่แปลงยางพาราบ้านแปแจง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ศึกษาชีววิทยา และฟีโนโลยีต่อการอุบัติของโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพาราในรอบปี รวมถึงพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพนวัตกรรมสารชีวภัณฑ์ในรูปแบบสารละลายและในรูปแบบเม็ดต่อการแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ และนำนวัตกรรมสารชีวภัณฑ์ไปทดสอบประสิทธิภาพของสารชีวภัณฑ์ในสภาพแปลงจริงของยางพารา ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ผลการทดสอบเบื้องต้นด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ทั้งในห้องปฏิบัติการและแปลงตัวอย่างมีผลในทางที่ดี คือเชื้อราลดลงและใบแตกยอดใหม่เร็วขึ้น และสามารถเปิดกรีดยางได้ มีผลผลิตน้ำยาง เปลือกยางนิ่ม กรีดง่าย และมีผลิตยางเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน
จากความก้าวหน้าของโครงการ “การประยุกต์ใช้นวัตกรรมสารชีวภัณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดในยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้” ณ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา พร้อมกับการทำงานร่วมกับชุมชนภาคการเกษตรของพื้นที่ ได้เริ่มเห็นผลที่เป็นรูปธรรม ในการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้โดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อความเข้มแข็งและยั่งยืน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน