วช. สถาบันปิโตรเลียม และ สมช. ร่วมมือทางวิชาการด้านผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
วันที่ 24 มีนาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.),ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และ ศ. ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ร่วมกันลงนามในครั้งนี้
เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการด้านผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งจะมีแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ ความช่วยเหลือด้านการศึกษา วิจัยและวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพัฒนาทางวิชาการเกี่ยวกับระบบนิเวศในทะเลอ่าวไทยโดยรอบแท่นปิโตรเลียมนอกชายฝั่งที่กำลังจะหมดอายุการใช้งาน ณ ห้องประชุม พลเอก จิร วิชิตสงคราม ชั้น 7 สำนักงานสภาพความมั่นคงแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า (วช.) ภายใต้กระทรวง (อว.) มีพันธกิจหลักในการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งริเริ่ม ขับเคลื่อน และประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ ซึ่งได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านผลประโยชน์ของชาติและความมั่นคงทางทะเล จึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงิน เพื่อพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงิน หรือ Blue Economy ซึ่งเศรษฐกิจสีน้ำเงินเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ในการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ควบคู่กับอนุรักษ์ดูแลรักษาระบบนิเวศ จากแนวคิดดังกล่าวนี้ ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเข้ามาสนับสนุนการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในหลายมิติ ทั้งในด้านการท่องเที่ยว การประมง สังคมและชุมชนชายฝั่ง รวมถึงด้านอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
ด้าน ดร.คุรุจิต นาครทรรพ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแท่นหลุมผลิตและขุดเจาะปิโตรเลียมรวมถึงแท่นที่พักอาศัยในอ่าวไทยมากกว่า 400 แท่น และกำลังเข้าสู่ยุคที่แท่นและสิ่งติดตั้งในกิจการปิโตรเลียมหลายแหล่งกลางอ่าวไทยกำลังทยอยหมดอายุสัมปทานลง สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ให้เพียงพอ ซึ่งประเทศไทยยังขาดแคลนงานวิจัยและองค์ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในเขตทะเลนอกชายฝั่งที่ประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะ การลงนามในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่ทางสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการประสานงานระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี เพื่อให้นักวิจัย นักวิชาการสามารถเข้าไปศึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ที่ขาดหายไปในพื้นที่บริเวณแท่นผลิตปิโตรเลียมได้สะดวกภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่กำหนด
นอกจากนี้องค์ความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะถูกส่งต่อไปยัง (วช.) เพื่อนำไปถ่ายทอดและต่อยอดผ่านการกำหนดกรอบวิจัยและนวัตกรรมที่เพื่อเติมเต็มองค์ความรู้ใหม่ๆ ทั้งเชิงลึกและนโยบายระดับชาติโดยการสนับสนุนของอนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (สมช.) ต่อไป
ส่วน ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ กล่าวว่า (อจชล.) ดำเนินการให้ข้อเสนอแนะ คำปรึกษาทางวิชาการในเชิงยุทธศาสตร์ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ ตลอดจนสนับสนุนและสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง การลงนามวันนี้ เป็นการสร้างเครือข่ายทางวิชาการแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมแลกเปลี่ยนและการจัดการองค์ความรู้ทางทะเลอย่างเป็นระบบ รวมถึงการนำกรรมทางเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่ทันสมัยเข้ามาใช้ประโยชน์ศึกษาวิจัยอันจะส่งผลให้การศึกษาในครั้งนี้จะสามารถนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ที่หมดภาระการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งในมิติของการรักษาความหลากหลายและบริการของระบบนิเวศทางทะเลในอ่าวไทยที่มีอยู่ รวมถึงผลประโยชน์ทางทะเลที่อยู่อย่างมหาศาล นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยผลักดันและส่งเสริมการดำเนินการต่างๆ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนสำคัญระดับชาติต่างๆ ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐบาลอย่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติฯและแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลฯ ให้ประสบผลสำเร็จ ด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน