กอ.รมน. ผนึก วช. เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ปราชญ์เพื่อความมั่นคง ด้วยวิจัยและนวัตกรรม นำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย พลโท วิเศษ เจริญสุข รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 (กอ.รมน.) และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “การเสริมสร้างปราชญ์เพื่อความมั่นคงและเครือข่ายภาคจังหวัดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในวันที่ 30 มีนาคม 2566 เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคความมั่นคงและภาคการวิจัยร่วมเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้นำสู่ศูนย์การเรียนรู้ของเครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคงและพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย ของ (กอ.รมน.) ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนเข้มแข็งด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม–1 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ ชลพฤกษ์ รีสอร์ท จังหวัดนครนายก
พลโท วิเศษ เจริญสุข รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 (กอ.รมน.) กล่าวว่า (กอ.รมน.ภาค) และ (กอ.รมน.จังหวัด) เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนงาน และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้นำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ถ่ายทอดสู่ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคง ในพื้นที่เป้าหมายจนทำให้ชุมชนเหล่านั้นมีศักยภาพสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นเป็นชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยการจัด “โครงการเสริมสร้างปราชญ์เพื่อความมั่นคงและเครือข่ายภาคจังหวัดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของปราชญ์เพื่อความมั่นคง และมีการถ่ายทอดความรู้นำไปสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างปราชญ์เพื่อความมั่นคงในสาขาต่างๆ เพื่อนำองค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอดประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่และเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง (วช.) และ (กอ.รมน.) ในการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม มีมาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งมีกลไกของศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1–5 และสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำสู่ศูนย์เรียนรู้ของเครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคงและพื้นที่ชุมชนเป้าหมายในความดูแลของ (กอ.รมน.) จำนวนมากกว่า 400 ชุมชนใน 77 จังหวัด จำนวนมากกว่า 30 นวัตกรรม โดย (กอ.รมน.) ทำหน้าที่คัดกรองพื้นที่ และ (วช.) คัดกรององค์ความรู้ที่พร้อมถ่ายทอดขยายผลสอดรับกับบริบทความต้องการของพื้นที่เป้าหมาย ในการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยในการยกระดับศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชน และมีนักวิจัยที่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ในการหนุนเสริมพลังชุมชนขยายผลนวัตกรรมสู่การสร้างความมั่นคง ตลอดจนเครือข่ายภาคจังหวัดที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนต้นแบบ ชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ซึ่งภายในงานมีการจัดนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์โดยนักวิจัยที่ได้รับทุนการจัดการความรู้การวิจัยจาก (วช.) และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยชุมชนที่ได้รับนวัตกรรมจาก (วช.) และได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบจาก (กอ.รมน.) และ (วช.)
พร้อมทั้ง กิจกรรมการบรรยายและการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการตลอดการจัดงาน ซึ่งในวันที่ 30 มีนาคม 2566 มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “แนวทางการพัฒนาพื้นที่และส่งเสริมการเกษตร”โดย นายณรงค์รัตน์ ม่วงประเสริฐ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติสภาเกษตรกรแห่งชาติ การบรรยายพิเศษเรื่อง “ปักหมุดการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิจัยและนวัตกรรมโดยความร่วมมือระหว่าง (กอ.รมน.) และ (วช.) และนวัตกรรมพร้อมใช้สำหรับชุมชน” โดย นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และการนำเสนอผลงานและนวัตกรรมของปราชญ์เพื่อความมั่นคง
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน