วช.หนุนทีมวิจัย ม.รามฯ ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการศึกษาวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งทางบกและทางทะเล จึงมีแผนในการพัฒนาอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพทั้งด้านพันธุกรรม ชนิดพันธุ์ และระบบนิเวศทั้งบนบกและทะเล เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ทะเลในชั้นดินตะกอนในระบบนิเวศแนวปะการังและชายหาด การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และขีดความสามารถในการจัดการประมง และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนให้การสนับสนุนงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้นหรือนวัตกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสามารถถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้สู่ชุมชน รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างผลงานการศึกษาจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบกและทางทะเล สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตในการประกอบอาชีพที่ต้องอาศัยระบบนิเวศทางธรรมชาติ และด้านพลังงานชีวภาพ
ดร.จำเริญ บัวเรือง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า ในการศึกษาร่วมกับทีมวิจัยภายใต้แผนการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 2 โครงการวิจัยย่อย คือ การบูรณาการการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และการบูรณาการความหลากหลายทรัพยากรทางชีวภาพและนิเวศวิทยาเพื่อพัฒนาศักยภาพของไลเคนในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพทั้งด้านพันธุกรรม ชนิดพันธุ์ และระบบนิเวศบนบกและทะเล ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมต่อสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศ ศึกษาเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และขีดความสามารถในการจัดการประมง และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ความหลากหลายของไลเคนและความสัมพันธ์กับแหล่งอาศัย ตลอดจนการตอบสนองต่ออุณหภูมิและมลพิษทางอากาศ ซึ่งมีผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพและแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของไลเคน รวมถึงค้นหาศักยภาพของไลเคนเพื่อประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสีย้อม และใช้ไลเคนเป็นแหล่งค้นหาแอคติโนแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ๆ
ดร.จำเริญฯ กล่าวอีกว่า ผลที่ได้จากการศึกษาสามารถช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถให้บริการด้านข้อมูลและวิชาการเกี่ยวกับฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพทั้งทางบกและทางทะเลที่ได้จากงานวิจัยนี้ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในประเทศโดยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การผลิตไบโอดีเซลจากเชื้อราทะเล สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของแบคทีเรียที่แยกจากไลเคน การตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยไลเคน สีย้อมจากไลเคน แนวทางการจัดการโครงสร้างป่าดิบเขา (ผสมสน) และการจัดการเชิงระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
สำหรับแนวทางการขยายผลต่อยอดโครงการนี้จะให้ความสำคัญในการเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่สาธารณะและพัฒนาโจทย์วิจัยเชิงลึกด้านการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมความพร้อมและหาแนวทางในการอนุรักษ์ ป้องกันและแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน