เกษตร จ.นครพนม เสริมความรู้ !! ปลูกทุเรียนเพิ่มรายได้ หนุนเกษตรกรนครพนมปลูกพืชทางเลือกใหม่…..ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
วันนี้ (19 เม.ย.66) ที่ห้องประชุม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ตำบลหนองแสง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม จัดอบรมถ่ายทอดความรู้เกษตรกร ในกิจกรรมส่งเสริมการปลูกทุเรียนเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตพืชทางเลือก โดยมีนางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เป็นประธานในพิธี เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกทุเรียนตามมาตรฐาน GAP สร้างการรับรู้และความเข้าใจในการผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยมีเกษตรกรเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 120 ราย แบ่งเป็นจำนวน 3 รุ่นๆละ 40 ราย
นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ในจังหวัดนครพนม มีพื้นที่เพาะปลูกไม้ผล ๑๖,๓๙๖ ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมะม่วง ลิ้นจี่ ทุเรียน มะพร้าว แต่ปลูกกันไม่มากนัก และในพื้นที่จังหวัดนครพนมเองก็มีเกษตรกรหลายรายที่ปลูกทุเรียนแล้วประสบผลสำเร็จที่ดี หากจังหวัดนครพนมสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถปลูกทุเรียน เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ทั้งบริโภคในจังหวัดและถึงขั้นสามารถส่งออกได้ จะเป็นข้อได้เปรียบของจังหวัดนครพนม เรื่องต้นทุนค่าขนส่งของสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก เพราะจังหวัดนครพนม มีเส้นทางการขนส่งสินค้าเกษตรไปยังประเทศลาว จีน เวียดนาม ผ่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3 ทำให้เกษตรกรมีโอกาสเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตพืชทางเลือกใหม่ นอกเหนือจากรายได้การจำหน่ายข้าวเพียงอย่างเดียว โดยอาศัยจุดเด่นทั้งเอกลักษณ์และความโดดเด่นของสินค้าเกษตร รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของไทย พร้อมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และภูมิปัญญาในการพัฒนาและสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรฉะนั้น เพื่อสร้างรายได้และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับเกษตรกร อย่างเพียงพอและยั่งยืน โดยมีการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตร ได้แก่
1. การปลูก การปฏิบัติการดูแลรักษา การขยายพันธุ์ และการตัดแต่งกิ่ง ทุเรียน
2. การผลิตทุเรียนตามมาตรฐาน GAP
3. การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต
สำหรับในปัจจุบันทุเรียน ถือเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการมาก อีกทั้งราคาจำหน่ายก็ค่อนข้างสูงจึงทำให้เกษตรกรเกิดความสนใจที่จะปลูกมากขึ้น ในการปลูกทุเรียนในช่วงแรกต้นทุเรียนจะต้องการร่มเงา ซึ่งพืชที่อยู่ร่วมกับทุเรียนได้ดี คือ กล้วย เพราะจะช่วยให้ร่มเงาและความชุ่มชื้นกับต้นทุเรียนในช่วงฤดูแล้ง และในพื้นที่ว่างระหว่างต้นเกษตรกรสามารถนำพืชผัก หรือไม้ผลต่างๆ มาปลูกแซมได้ แต่จะต้องคำนึงถึงชนิดและประเภทของพืชที่จะปลูกร่วมกันด้วย โดยพิจารณาจากระบบราก ลักษณะทรงพุ่ม ความต้องการธาตุอาหาร น้ำ แสงแดด ความทนทานต่อความแห้งแล้งของพืชแต่ละ ชนิดที่จะนำมาปลูกจะต้องมีการศึกษาทำความเข้าใจให้ดี เพราะผลกระทบของพืชแต่ละชนิดสามารถที่จะมีต่อกันและกันได้ และเพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดความคุ้มค่า
การจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมยังได้มอบปัจจัยการผลิต คือ ต้นพันธุ์ทุเรียน (หมอนทอง) จำนวนคนละ 20 ต้น ซึ่งเกษตรกรสามารถนำต้นพันธุ์ทุเรียนไปปลูกได้ในพื้นที่ 1 ไร่ ระยะ 9 x 9 จำนวน 20 ต้น เป็นการส่งเสริมในการปลูกสร้างสวนทุเรียนทีมีคุณภาพ และเป็นการปลูกไม้ผลอย่างถูกวิธี ทำให้เกษตรกรเมื่อได้รับต้นพันธุ์ไปแล้วสามารถนำไปปลูกได้อย่างถูกต้องและเจริญเติบโตได้ดี สิ่งสำคัญคือการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภายนอกจังหวัด และประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและสามารถผลิตไม้ผลที่มีคุณภาพและมาตรฐานออกสู่ตลาดได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกรชาวนครพนมให้ดีขึ้น
เทพข่าวร้อน รายงาน