สวทช. ร่วมกับ JAXA พร้อมหน่วยงานพันธมิตร เปิดรับสมัครเยาวชนแข่งขัน Kibo Robot Programming Challenge ครั้งที่ 4 ชิงแชมป์ประเทศไทย รับทุนการศึกษา 20,000 บาท
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น และหน่วยงานพันธมิตร จัดโครงการแข่งขัน The 4th Kibo Robot Programming Challenge เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าเข้าร่วมการแข่งขัน โดยมุ่งส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยในด้านสะเต็มศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมทรัพยากรบุคคลรองรับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยในอนาคต โดยทีมชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาจำนวน 20,000 บาท และเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันรอบชิงแชมป์โลกร่วมกับเยาวชนจากต่างประเทศในเดือนตุลาคม 2566
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ (สวทช.) กล่าวว่า (สวทช.) ร่วมจัดโครงการแข่งขัน The 4th Kibo Robot Programming Challenge ซึ่งได้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว สำหรับกติกาปีนี้ ทีมที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันต้องมีสมาชิกจำนวน 3-5 คน และกำลังศึกษาไม่เกินระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า โดยสมาชิกในทีมอยู่ต่างสถาบันการศึกษาและระดับชั้นเรียนได้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสมัครทางออนไลน์ภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ก่อนเวลา 24.00 น. ผ่านเว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation/kibo-rpc2023/
“สำหรับรูปแบบการแข่งขัน ผู้เข้าร่วมต้องพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาจากเทมเพลตที่ทางแจ็กซากำหนด เพื่อควบคุมหุ่นยนต์แอสโตรบี (Astrobee) ในระบบ Simulation ซึ่งจำลองสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดเหตุแอมโมเนียรั่วไหลภายในสถานีอวกาศนานาชาติ ผู้เข้าแข่งขันต้องเขียนโปรแกรมด้วยภาษา JAVA เพื่อสั่งการให้หุ่นยนต์แอสโตรบีเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ที่กำหนด โดยจะต้องเคลื่อนเข้าไปอ่าน QR Code ตามจุดที่กำหนด และยิงเลเซอร์เข้าเป้าหมายที่ถูกสุ่มขึ้นมาเพื่อซ่อมแซมสถานีอวกาศนานาชาติ โดยคะแนนการแข่งขันจะคำนวณจากความแม่นยำในการยิงเลเซอร์สู่เป้าหมายของหุ่นยนต์แอสโตรบี และเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้น
ขณะนี้ทีมที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันสามารถเข้าไปทดลองประมวลผลโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาในเซิร์ฟเวอร์ของการแข่งขันได้ที่เว็บไซต์ https://jaxa.krpc.jp ทั้งนี้การแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 ทีมชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาจำนวน 20,000 บาท และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์โลกในเดือนตุลาคม 2566 ต่อไป”
ด้าน นายวสันชัย วงศ์สันติวนิช ผู้บริหาร บริษัทเดลว์ แอโรสเปซ จำกัด ผู้ร่วมสนับสนุนโครงการแข่งขันในปีนี้ กล่าวเสริมว่า การเขียนโปรแกรมขึ้นไปใช้งานสำหรับหุ่นยนต์ในสถานีอวกาศฯ ถือเป็นภารกิจที่น่าสนใจและมีความท้าทาย สามารถพิสูจน์ได้ถึงทั้งฝีมือ และความละเอียดรอบคอบ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจทั้งในเรื่องของการพัฒนาอัลกอริทึม, ด้านแมคคาทรอนิคส์ ไปจนถึงองค์ความรู้ด้านการบินและอวกาศ เพราะต้องสร้างผลงานให้กับหุ่นยนต์ที่เราไม่เคยเห็น (physically) เพื่อให้ทำภารกิจได้อย่างดีที่สุด ซึ่งหุ่นยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันในครั้งนี้ คือหุ่นยนต์แอสโตรบี (Astrobee) เป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศที่ใช้งานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ คอยสนับสนุนและช่วยเหลือการทำงานของนักบินอวกาศ พัฒนาโดย NASA Ames Research Center ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาเทคโนโลยีระบบคอมพิวเตอร์ขั้นสูงและเป็นศูนย์วิจัยที่พัฒนาอัลกอริทึมทั้งทางด้านการบินและอวกาศ ทั้งหมดนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของเด็กไทย ที่จะสามารถเข้าไปมีประสบการณ์กับงานในระดับโลก
“ทีมเยาวชนไทยที่ชนะการแข่งขันจะได้เป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมแข่งขัน โครงการ The 4th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์โลก ซึ่งจะมีเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันรวม 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, บังคลาเทศ, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เนปาล, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, ไต้หวัน, สหรัฐอเมริกา และไทย โดยมีนักบินอวกาศเป็นผู้ควบคุมการแข่งขันอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติและถ่ายทอดสดลงมาที่พื้นโลกด้วย การได้มีโอกาสร่วมสนับสนุนการจัดแข่งขันครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดและมีความสำคัญอย่างมากในอนาคต”
ผู้ที่สนใจติดตามรายละเอียดข้อมูลและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการ The 4th Kibo Robot Programming Challenge ได้ที่ Website: https://www.nstda.or.th/spaceeducation/kibo-rpc-2023/ ,Facebook page: NSTDA SPACE Education หรือ สแกน QR Code
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน