อว. นำคณะนักประดิษฐ์/นักวิจัยไทยคว้ารางวัลระดับนานาชาติ จากงาน “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมพิธีมอบรางวัลการประกวดประดิษฐกรรมและนวัตกรรมงาน “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva” และมอบรางวัล Special Prizes on Stage แก่หน่วยงานด้านการประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรรมจากนานาชาติ พร้อมแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดประดิษฐกรรมและนวัตกรรมในครั้งนี้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำคณะนักประดิษฐ์/นักวิจัยไทยจาก 37 หน่วยงาน คว้ารางวัลระดับนานาชาติจากงาน “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26–30 เมษายน 2566 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
เป็นที่น่ายินดีที่นักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลพิเศษของงาน On Stage คือ รางวัล Industrial Design Prize จากผลงานเรื่อง “นวัตกรรมแผงกันแดดปรับได้อัตโนมัติแบบประหยัดด้วยพลังงานแสงอาทิตย์” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พฤฒิพร ลพเกิด และรองศาสตราจารย์ ศรีศักดิ์ พัฒนวศิน แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลจาก Pour la Suisse Romande de I’Association สวิตเซอร์แลนด์
นอกจากนี้ ยังมีประดิษฐกรรม และนวัตกรรมอีก 3 ผลงานที่ได้รับ Special Prizes on Stage จากองค์กรนานาชาติ ดังนี้
- ผลงานเรื่อง “AragoShine: เกล็ดแคลเซียมคาร์บอเนตชีวภาพที่เป็นประกายแวววาว” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลจาก Delegation of Saudi Arabia ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
- ผลงานเรื่อง “นวัตกรรมเซลล์โฟโตอิเล็กโตรคะตะไลติกร่วมกับโซลาร์เซลล์ สำหรับการบำบัดน้ำเสียและระบบผลิตน้ำสะอาด” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย พลเชี่ยว แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับรางวัลจาก Office des Brevets de Pologne สาธารณรัฐโปแลนด์
- ผลงานเรื่อง “การคัดกรองมะเร็งเต้านมทางไกลโดยใช้ระบบบริหารจัดการภาพ อัลตราซาวด์สามมิติอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์” โดย ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล แห่ง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้รับรางวัลจาก Delegation of Hong Kong เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
พร้อมนี้ ผลงานของนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยยังคว้าเหรียญรางวัลจากเวที Geneva ในประเภทต่างๆ ดังนี้
- Gold Medal with the Congratulations of the Jury 3 ผลงาน
- Gold Medal 27 ผลงาน
- Silver Medal 42 ผลงาน
- Bronze Medal 52 ผลงาน
พร้อมด้วย Special Prizes จากประเทศต่างๆ อาทิ โปรตุเกส เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน และประเทศอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยผลงานที่ได้รางวัลเหรียญทองเกียรติยศ ได้แก่
- ผลงานเรื่อง “เซนเซอร์อัจฉริยะตรวจวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด” โดย ศาสตราจารย์ ดร.เกศรา ณ บางช้าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ฝึกหายใจแบบชาญฉลาด” โดย ดร. กิตติคุณ ทองพูล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ผลงานเรื่อง “เทคโนโลยีต้นทุนต่ำสำหรับการตรวจคัดกรองภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดด้วยปัญญาประดิษฐ์” โดย ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) ได้ร่วมในพิธีมอบรางวัลและกล่าวว่า ทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยที่ได้สร้างชื่อเสียงและการยอมรับในมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของประเทศไทยในเวทีนานาชาติในครั้งนี้ รวมทั้งการส่งเสริมและต่อยอดประดิษฐกรรมและนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป
สำหรับงานดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 48 เป็นเวทีการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติที่สำคัญในสหภาพยุโรป โดยมีนักประดิษฐ์/นักวิจัยจากทั่วโลกนำผลงานเข้าประกวดและจัดแสดงกว่า 1,000 ผลงาน จากกว่า 40 ประเทศ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 10,000 คน โดยผลงานจากประเทศไทยที่นำเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ วช. ได้พิจารณาคัดกรองในหลายรูปแบบ ได้แก่ ผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาผลงานจาก (วช.),ได้รับรางวัลและนำเสนอในเวทีระดับประเทศ อาทิ รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลระดับประเทศของหน่วยงาน,ผลงานที่มีการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน