ประชาธิปัตย์จัดเต็ม ! 4 เมกะโปรเจกต์ ดันระบบรางทั่วไทย ลดต้นทุนโลจิสติกส์ – ปิดประตู “ประมูลเอื้อเอกชน”
ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว วาระประเทศไทย ครั้งที่ 5 “ปชป. กับนโยบายแก้หนี้ประชาชนและการพัฒนาระบบการเงิน” และ “ปชป.จัดเต็ม ! ดันระบบรางทั่วไทย ลดต้นทุนโลจิสติกส์ – ปิดประตู “ประมูลเอื้อเอกชน” โดย ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งและโครงการขนาดใหญ่ (Megaproject) พร้อมด้วย ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรมช.กระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการนโยบายและทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ณ ห้องประชุม ชั้น 3 พรรคประชาธิปัตย์ อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
ดร.สามารถ กล่าวว่า ประเทศไทยมีทำเลยุทธศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค แต่เมื่อหันมามองต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยแล้ว น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยต้นทุน โลจิสติกส์ของไทยต่อ GDP มีค่าประมาณร้อยละ 14 ในขณะที่ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP เฉลี่ยของทุกประเทศทั่วโลกมีค่าประมาณร้อยละ 10 แต่ประเทศที่มีระบบรางที่ดีมีต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ประมาณร้อยละ 8-9 เหตุที่ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยสูงก็เพราะว่าการขนส่งของเรายังพึ่งพาถนนหรือรถยนต์เป็นหลัก ซึ่งมีต้นทุนการขนส่งสูงกว่าการขนส่งทางราง ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลดต้นทุนโลจิสติกส์ และถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องขับเคลื่อนประเทศด้วยระบบราง รถไฟจะเป็นทางเลือกใหม่ของการขนส่ง เพื่อนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พรรคประชาธิปัตย์จึงมีนโยบายด้านระบบราง ดังนี้
1.รถไฟทางคู่ ซึ่งเปรียบเหมือนกระดูกสันหลังของโครงข่ายรถไฟ พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ริเริ่มโครงการรถไฟทางคู่ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2536 ปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟทั่วประเทศยาวประมาณ 4,044 กิโลเมตร ประกอบด้วยทางเดี่ยว 3,394 กิโลเมตร (83.9%) ทางคู่ 543 กิโลเมตร (13.4%) และทางสาม 107 กิโลเมตร (2.7%) ซึ่งในอนาคต การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนที่จะก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ในพื้นที่ที่ยังไม่มีทางรถไฟอีก 2,419 กิโลเมตร ทำให้มีทางรถไฟยาวทั้งหมด 6,463 กิโลเมตร เป็นทางคู่ 6,356 กิโลเมตร และทางสาม 107 กิโลเมตร ไม่มีทางเดี่ยวเลย แต่อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างรถไฟทางคู่จะต้องเลือกเส้นทางที่มีความต้องการการใช้ทางสูงเป็นลำดับแรกก่อน ซึ่งในช่วงแรก บางเส้นทางควรสร้างเป็นทางเดี่ยวก่อน เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารและสินค้าสูงจึงก่อสร้างทางเพิ่มเป็นทางคู่ ถึงเวลานั้น ศักยภาพของรถไฟไทยจะเพิ่มขึ้น โดยมีจังหวัดที่มีรถไฟตัดผ่านเพิ่มจาก 47 จังหวัด เป็น 61 จังหวัด ความเร็วรถไฟโดยสารเพิ่มจาก 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วรถไฟขนส่งสินค้าเพิ่มจาก 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรถไฟเพิ่มจากร้อยละ 1.4 เป็นร้อยละ 10 ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเฉพาะรถไฟทางคู่ในอนาคตพบว่า ในส่วนของรถไฟทางคู่สายเดิมมีเส้นทางที่กำลังก่อสร้าง 700 กิโลเมตร และเส้นทางที่จะต้องก่อสร้างอีก 2,694 กิโลเมตร ส่วนรถไฟทางคู่สายใหม่ มีเส้นทางที่กำลังก่อสร้าง 678 กิโลเมตร และที่จะต้องก่อสร้างอีก 1,741 กิโลเมตร ดังนั้น จึงมีรถไฟทางคู่ที่จะต้องก่อสร้างทั้งหมด 4,435 กิโลเมตร
พรรคประชาธิปัตย์จะเร่งรัดก่อสร้างทางคู่เพิ่มเติมเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ จากรถไฟทางคู่ที่จะต้องก่อสร้างทั้งหมด 4,435 กิโลเมตร พรรคประชาธิปัตย์ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี พ.ศ. 2570 จะสามารถก่อสร้างได้ 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 2.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย (1) ปากน้ำโพ-เด่นชัย (2) เด่นชัย-เชียงใหม่ (3) ถนนจิระ-อุบลราชธานี (4) ขอนแก่น-หนองคาย (5) ชุมพร-สุราษฎร์ธานี (6) สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา และ (7) หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เมื่อก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั้ง 7 เส้นทางนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะทำให้มีสัดส่วนทางรถไฟดังนี้ ทางเดี่ยว 1,211 กิโลเมตร (25.6%) ทางคู่ 3,404 กิโลเมตร (72.1%) และทางสาม 107 กิโลเมตร (2.3%) รวมระยะทางทั้งหมด 4,722 กิโลเมตร ถึงเวลานั้นต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ของไทยจะลดลงจากร้อยละ 14 เหลือร้อยละ 12
“หากพรรคประชาธิปัตย์ได้ดูแลกระทรวงคมนาคม การประมูลรถไฟทางคู่ที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนทั่วประเทศแบบสายเหนือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายอีสานช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เนื่องจากราคาที่ได้จากการประมูลต่ำกว่าราคากลางเพียงแค่ร้อยละ 0.08 เท่ากันทุกสัญญา จะไม่เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน” ดร.สามารถ กล่าวย้ำ
สำหรับการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสานที่ผ่านมา มีการแบ่งสัญญาการก่อสร้างออกเป็น 5 สัญญา เท่ากับจำนวนผู้รับเหมาขนาดใหญ่พอดี ซึ่งทุกรายเข้าประมูลและได้งาน แต่ผู้รับเหมาขนาดกลางไม่สามารถเข้าประมูลได้ หากต้องการเข้าร่วม จะต้องรวมกับผู้รับเหมาขนาดใหญ่เป็นกิจการร่วมค้า แต่มักจะถูกปฏิเสธจากผู้รับเหมาขนาดใหญ่ เพราะผู้รับเหมาขนาดใหญ่ไม่ต้องการแบ่งผลงานให้ เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ผู้รับเหมาขนาดกลางกลายเป็นผู้รับเหมาขนาดใหญ่ในวันข้างหน้า ทำให้มีผู้รับเหมาขนาดใหญ่เข้ามาแข่งขันกันมากขึ้น โอกาสที่จะชนะการประมูลก็จะยากขึ้น แนวทางการประมูลรถไฟทางคู่ของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือจะเปิดกว้างให้ผู้รับเหมาทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางเข้ามาแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าก่อสร้างได้ และทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น
2.รถไฟความเร็วสูง พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดทำแผนแม่บทรถไฟความเร็วสูงขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 เราจะสานต่อการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย โดยจะเร่งก่อสร้างเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา ระยะทาง 355 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 230,000 ล้านบาท เป็นการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวมาถึงไทย เพื่อรองรับผู้โดยสารจากประเทศจีนและประเทศลาวที่จะเดินทางมาประเทศไทยโดยรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ซึ่งหากมีชาวจีนเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยวันละประมาณ 5,000 คน หรือปีละประมาณ 2 ล้านคน และหากชาวจีนเหล่านี้ใช้จ่ายเงินในประเทศไทยประมาณ 50,000 บาทต่อคน เราก็จะมีเงินหมุนเวียนอยู่ในประเทศไทยปีละประมาณ 100,000 ล้านบาท ถือเป็นผลประโยชน์ทางอ้อมที่มีมูลค่าสูงจากโครงการนี้
พรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนการพัฒนาเมืองรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง เพื่อกระตุ้นให้มีผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงมากขึ้น เมืองเหล่านี้อาจประกอบด้วยเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City) ที่มีการวางผังเมือง ระบบจราจร การสร้างบ้านเรือนบนพื้นฐานการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการควบคุมการปล่อยมลภาวะ และการจำกัดขยะ การพัฒนาเมืองรอบสถานีจะทำให้หัวเมืองในปัจจุบันมีการขยายตัวขึ้น มีความเจริญขึ้นจนมีสถานะเป็นเมืองระดับนานาประเทศ มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น มีการค้าขายมากขึ้น ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น เหล่านี้นับเป็นผลประโยชน์ทางอ้อมที่สำคัญของโครงการ และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการหารือระหว่างไทย-ลาว เพื่อหาข้อยุติเรื่องการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งใหม่ที่จะรองรับทางรถไฟปกติที่มีขนาดความกว้างของราง 1 เมตร และทางรถไฟความเร็วสูงที่มีขนาดความกว้างของราง 1.435 เมตร โดยหากพรรคประชาธิปัตย์ได้ดูแลกระทรวงคมนาคม พี่น้องประชาชนจะได้ใช้รถไฟความเร็วสูงช่วงหนองคาย-นครราชสีมา ภายในเวลาไม่เกิน 6 ปี ไม่ล่าช้าเหมือนช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งก่อสร้างมา 6 ปีแล้ว แต่มีความคืบหน้าแค่เพียงประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น” พรรคประชาธิปัตย์จะเร่งแก้ปัญหาการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งมีปัญหาการเวนคืนที่ดิน การขอใช้พื้นที่หน่วยงานของรัฐ และปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ต้องปรับรูปแบบการก่อสร้าง
3.ระบบขนส่งมวลชนในเมืองมหานคร เพื่อกระจายความเจริญจากกรุงเทพฯ ไปสู่หัวเมืองหลักในภูมิภาค พรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาที่เชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงิน 27,200 ล้านบาท ที่ขอนแก่น วงเงิน 22,000 ล้านบาท ที่นครราชสีมา ระยะที่ 1 วงเงิน 18,400 ล้านบาท และที่ภูเก็ต ระยะที่ 1 วงเงิน 30,200 ล้านบาท และจะสนับสนุนการก่อสร้างรถรางล้อยาง (Auto Tram) ที่พิษณุโลก วงเงิน 760 ล้านบาท รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล ระยะที่ 1 ที่หาดใหญ่ วงเงิน 16,200 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งหมดเกือบ 1.2 แสนล้านบาท
ดร.สามารถ ตั้งคำถามว่า “ที่ผ่านมา มีการใช้เงินในการก่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 1 ล้านล้านบาท จะขอเงินไปสร้างระบบขนส่งมวลชนในต่างจังหวัดทั่วทุกภาค ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ไม่ได้เชียวหรือ ?”
4.รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถึงเวลานี้ มีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว 210 กิโลเมตร ใกล้เปิดให้บริการอีก 65 กิโลเมตร ประกอบด้วยสายสีชมพูและสายสีเหลือง กำลังก่อสร้าง 46 กิโลเมตร ประกอบด้วยสายสีส้มตะวันออก และสายสีม่วงใต้ ในส่วนของสายสีส้มตะวันออกนั้น แม้ว่าการก่อสร้างงานโยธาใกล้เสร็จแล้วก็ตาม แต่ยังเปิดให้บริการไม่ได้ เพราะยังไม่มีผู้เดินรถไฟฟ้า ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก และเดินรถตลอดทั้งสาย แต่ยังมีปัญหาฟ้องร้องกันอยู่
ดร.สามารถ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ทั้งสายสีม่วงใต้และสายสีส้ม พร้อมทั้งจะเร่งแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเขียวที่ยืดเยื้อมานาน โดยไม่นำปัญหาของทั้ง 2 สาย มาผูกโยงกัน ตามที่เคยถูกตั้งข้อสังเกตว่าความล่าช้าในการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเพราะบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อสู้อย่างไม่ยอมถอยในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทั้งนี้ ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการทั้งสองอย่างเต็มที่ พร้อมประกาศชัดว่า “หากพรรคประชาธิปัตย์ได้ดูแลกระทรวงคมนาคม การประมูลรถไฟฟ้าที่ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้านบาท จะต้องไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว การประมูลรถไฟฟ้าทุกโครงการ รัฐจะต้องได้ผลตอบแทนสูงสุด โดยพรรคประชาธิปัตย์จะเปิดกว้างให้มีการแข่งขันในการประมูลอย่างจริงจังและเป็นธรรมทั้งในส่วนของผู้รับเหมาและผู้เดินรถไฟฟ้า ที่สำคัญ จะไม่เกิดกรณีมีผู้รับเหมาทั้งโลกแค่เพียง 2 รายเท่านั้น ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว”
ดร.สามารถ กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า
(1) นโยบายด้านระบบรางของพรรคประชาธิปัตย์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 6.2 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 4-6 ปี แบ่งเป็นเงินลงทุนจากภาครัฐ 5.1 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82 และเงินลงทุนจากภาคเอกชน 1.1 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18
(2) การลงทุนในโครงการรถไฟทางคู่วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท คาดว่าจะสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP จากร้อยละ 14 ในปัจจุบัน เหลือร้อยละ 12 ในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการแข่งขันของประเทศ
(3) การลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงหนองคาย-นครราชสีมา วงเงิน 2.3 แสนล้านบาท และโครงการระบบขนส่งมวลชนในเมืองมหานคร วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท จะช่วยให้ประชาชนประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมรับกระแสโลกในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อทำให้โลกเกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ