สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” ถูกหลอกสูญเงินไป 3.2 ล้าน
เนื่องจากในรอบสัปดาห์ มีข่าวแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลอกลวง นายวัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” ให้โอนเงินสูญเงินไป 3.2 ล้านบาทเศษ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นห่วงพี่น้องประชาชน ที่อาจจะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพดังกล่าว จึงมอบหมายให้ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะทำงาน แถลงข่าวเตือนภัย เมื่อวันที่ 23 พ.ค.66 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.กล่าวว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (14-20 พ.ค.66) มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่
- คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ
- คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ
- คดีหลอกลวงให้กู้เงิน
- คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) และ
- คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์
สำหรับคดีออนไลน์ที่มิจฉาชีพนำมาหลอกลวง นายวัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” สูญเงินไป 3.2 ล้านบาทเศษ ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนต้องเตือนให้ประชาชนได้รับทราบ จึงได้เชิญนายวัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” มาร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย
พ.ต.อ.ก้องกฤษฎา กิตติถิระพงษ์ รองผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. กล่าวถึงรายละเอียดภัยออนไลน์ในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์ข่มขู่นายวัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” ว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและฟอกเงิน
โดยมิจฉาชีพคนที่ 1 แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย โทรศัพท์หานายวัฒนาฯ แจ้งว่าค้างชำระบัตรเครดิตธนาคารกรุงไทย หากไม่ได้ใช้บัตรเครดิต แสดงว่ามีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตไปใช้ และแนะนำให้ไปแจ้งความที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ และต่อสายโทรศัพท์ให้คุยกับมิจฉาชีพคนที่ 2 ซึ่งอ้างตนเป็น พ.ต.อ.เสฎฐวุฒิ รอดจันทร์ เนื่องจากเห็นว่าไม่สะดวกเดินทางไปแจ้งความ ระหว่างนั้น มิจฉาชีพคนที่ 3 ใช้บัญชีไลน์ ชื่อ “สภ.เมืองนครสวรรค์” ส่งบัตรประจำตัว พ.ต.อ.เสฎฐวุฒิ รอดจันทร์ มาให้ดูและแจ้งด้วยว่า นายวัฒนาฯ เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดและฟอกเงินพร้อมส่งบัญชีธนาคารของนายวัฒนาฯ มาให้ตรวจสอบและแจ้งว่าได้ขายสมุดบัญชีธนาคารที่ไม่ได้ใช้แล้วให้บุคคลอื่นในราคา 50,000 บาท และมีเงินจำนวน 850,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากการขายยาเสพติดโอนเข้ามาในสมุดบัญชี หากต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต้องโอนเงินมาตรวจสอบเส้นทางการเงิน หากตรวจสอบแล้วไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดใดๆ จะโอนเงินคืน นายวัฒนาฯ หลงเชื่อจึงโอนเงินจากบัญชีธนาคาร 5 บัญชี จำนวน 10 ครั้ง เข้าบัญชี น.ส.สุดารัตน์ (ขอสงวนนาม สกุล) และ น.ส.ชนกานต์ (ขอสงวนนามสกุล) รวมเป็นเงิน 3,202,380.7 บาท ให้มิจฉาชีพไป
จุดสังเกต
- โทรศัพท์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินต่างๆ แล้วเริ่มบทสนทนาพูดคุยโน้มน้าวให้หลงเชื่อ
- อ้างสถานที่เกิดเหตุไกลจากบ้านหรือที่อยู่ผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายไม่อยากเดินทางไปสถานีตำรวจ และต้องการความสะดวกในการติดต่อทางโทรศัพท์ไลน์ หรือทางอื่น
- แอบอ้างเจ้าหน้าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ส่งบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ หรือหนังสือของทางราชการ ข่มขู่เพื่อให้เกิดความกลัว แล้วให้โอนเงินให้คนร้ายตรวจสอบ
- มิจฉาชีพใช้บัญชีไลน์ส่วนบุคคล แต่ส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐใช้บัญชีทางการ (Line Official)
- บัญชีรับโอนเงินของมิจฉาชีพเป็นบัญชีส่วนบุคคล แต่บัญชีส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ เอกชน เป็นบัญชีหน่วยงานหรือองค์กร
วิธีป้องกัน
- ให้ติดต่อ call center ของธนาคารเพื่อสอบถามข้อมูลโดยตรง เพราะธนาคารไม่มีนโยบายในการโทรศัพท์แจ้งให้ประชาชนโอนเงินไปตรวจสอบ หรือโหลดแอพพลิเคชั่น
- กรณีอ้างหน่วยงานของรัฐที่เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ให้โทรศัพท์สอบถามข้อมูลจากหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง
- ให้นัดหมายไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งความ สอบสวนปากคำ ชี้แจง หรือยื่นพยานเอกสาร พยานวัตถุ ณ สถานที่เกิดเหตุหรือสถานที่ราชการด้วยตนเอง
- ถ้ามีการสนทนาทาง Video call ให้มีสติและสังเกตปากกับเสียงตรงกันหรือไม่ หรือ ภาพและท่าทางมีความผิดปกติหรือไม่ (คนร้ายสามารถใช้โปรแกรมปลอมใบหน้าขณะสนทนาได้)
พล.ต.ต.สุระพรรณ นาทวรทัต ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 เปิดเผยว่า ได้รวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม และข้อมูลทางการสืบสวนเส้นทางการเงินของผู้ต้องหา จากกองบัญชาการสืบ สวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ จนสามารถออกหมายจับผู้ต้องหา บัญชีม้าแถวแรกได้แล้ว และออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพิ่มเติม พร้อมทั้งอายัดเงินในบัญชีม้าแถวที่ 2-4 รวมทั้งหมดจำนวน 11 ราย โดยนัดหมายให้มารายงานตัว ในวันจันทร์ที่ 29 พ.ค.66 เวลา 10.00 น. และสอบปากคำ พ.ต.อ.เสฏฐวุฒิ รอดจันทร์ ผกก.สภ. เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งถูกแก็งค์คอลเซนเตอร์นำไปกล่าวอ้างในการหลอกลวง “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” โดยยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ติดต่อโทรศัพท์พูดคุยกับผู้เสียหายแต่อย่างใด
พ.ต.อ.ก้องกฤษฎา กิตติถิระพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังใช้วิธีส่ง sms หลอกให้กดเพิ่มเพื่อนไลน์แล้วให้โหลดแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์ โดยมิจฉาชีพแอบอ้างการไฟฟ้า, การประปา, ธนาคาร, หน่วยงานรัฐ หรือเอกชน ส่ง sms ให้ผู้เสียหายกดลิงค์เพิ่มเพื่อนไลน์ แล้วหลอกให้หลงเชื่อและกดลิงก์ดาวน์โหลดแอพพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์ แล้วโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการแอบอ้างการไฟฟ้านครหลวง ดังนี้
มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงหลอกโอนเงิน โดยส่ง sms แจ้งว่าเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าจดเลขมิเตอร์เกิน ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ โดยเพิ่มเพื่อนในไลน์ กับมิจฉาชีพซึ่งใช้ชื่อสำนักงานการไฟฟ้า และอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงแล้วส่งลิงก์มาให้หลงเชื่อและกดลิงก์ เพื่อให้ผู้เสียหายดาวน์โหลดแอพพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์ แล้วโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย
จุดสังเกต การเปรียบเทียบของปลอม-ของจริง
ของปลอม
1) เวบไซต์ชื่อ www.xk-line.cc นามสกุลของโดเมนไม่ถูกต้อง
2) ไลน์เป็นบัญชีส่วนบุคคล สามารถโทรหากันได้
3) ใช้โลโก้ กฟน. เหมือนของจริง แต่ใช้ชื่อบัญชี “สำนักงานการไฟฟ้า”
ของจริง
1) เวบไซต์ชื่อ www.mea.or.th นามสกุลของโดเมนคือ .or.th
2) ไลน์เป็นบัญชีทางการ ไม่สามารถโทรหากันได้
3) ใช้ชื่อบัญชี “การไฟฟ้านครหลวง”
วิธีป้องกัน
- ไม่เปิดอ่านหรือ กดลิงก์ใน SMS แปลกปลอม หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้ติดตั้ง
- กรณีมีการส่ง SMS ที่ผิดปกติ ควรโทรศัพท์ตรวจสอบกับการไฟฟ้านครหลวง MEA call center โทร.1130 โดยตรง
- หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple
- Store เท่านั้น ไม่ควรดาวน์โหลดจากลิ้งค์หรือข้อความที่มีคนส่งให้
พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงว่าการระงับการทำธุรกรรมและอายัดบัญชีตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ห้วงวันที่ 17 มี.ค.66–5 พ.ค.66 มีรายละเอียด ดังนี้
Case ID ในความรับผิดชอบ 30,439 (Case ID) พงส.แจ้งธนาคารทราบถึงการรับคำร้องทุกข์ 988 (Case ID)
พงส.แจ้งให้อายัดการทำธุรกรรม/อายัดบัญชี 762 (Case ID) จำนวนบัญชีที่ขอระงับ/อายัด 16,597 (บัญชี) จำนวนเงินที่ขออายัด 685,310,290 บาท จำนวนเงินที่อายัดได้ 92,132,049 บาท (14%)
การดำเนินการตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 (บัญชีม้า) ห้วงวันที่ 17 มี.ค.66 – 17 เม.ย. 66 มี ดังนี้
ออกหมายจับ จำนวน 264 คดี/268 หมาย จับกุม จำนวน 170 คดี/137 คน เจ้าของไปขอปิดบัญชี จำนวน 118 บัญชี การดำเนินการตรวจค้น จับกุม การจำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือแบบลงทะเบียนพร้อมใช้ แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ (ซิมเถื่อน) ได้ทำการตรวจค้นสถานที่ที่ต้องสงสัยรวมการตรวจค้นทั่วประเทศทั้งหมด จำนวน 40 จุด พบการกระทำผิด จำนวน 4 จุด จับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งสิ้น จำนวน 6 ราย พร้อมตรวจยึดของกลางซิมโทรศัพท์ทั้งหมด จำนวน 108,789 ซิม นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีในฐานความผิด “เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้” กรณีเปิดหรือยอมให้คนอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตร หรือ e-wallet เป็นบัญชีม้า ให้รีบนำบัตรประชาชนไปปิดบัญชีกับธนาคารโดยเร็ว เนื่องจากเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ซึ่งมีอัตราโทษสูง คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทัน รูปแบบกลโกงของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์แอบอ้างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐต่างๆ ข่มขู่ให้เกิดความกลัว และให้ผู้เสียหายโอนเงินให้ตรวจสอบ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและสถานการณ์ว่ามิจฉาชีพจะอ้างหน่วยงานใดและใช้วิธีใด หากมิจฉาชีพใช้วิธีนี้ขอให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทันและวางสายโทรศัพท์ทันที(หากโทรกลับจะไม่มีผู้รับสาย) มิจฉาชีพก็จะหลอกต่อไปไม่ได้ หากมิจฉาชีพใช้รูปแบบกลโกงโดยการส่ง sms พร้อมแนบลิงก์มาด้วย ขอให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทันและไม่เปิดอ่านหรือ กดลิงก์ใน sms แปลกปลอม หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้ติดตั้ง หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store เท่านั้น
สำหรับพี่น้องประชาชนเมื่อถูกหลอกหรือมีเหตุสงสัยว่าตกเป็นเหยื่อคดีออนไลน์ เช่น กรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงิน และแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์แล้วโอนเงินออกไป ให้ประชาชนรีบดำเนินการ ดังนี้
- แจ้งธนาคารทันที ผ่านเบอร์ศูนย์รับแจ้งเหตุ hotline หรือที่สาขาเพื่อให้ระงับธุรกรรมชั่วคราว ช่วยตัดตอนเส้นทางการเงิน
- แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างรวดเร็ว ผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com และต้องไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนปากคำอีกครั้ง หรือเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ใดก็ได้ เพราะธนาคารระงับธุรกรรมชั่วคราวได้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยตำรวจจะแจ้งให้ธนาคารทราบเพื่อระงับธุรกรรมต่อไปอีกเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้จาก เว็บไซต์ และเพจ เตือนภัยออนไลน์ หรือโทรสายด่วน 1441
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน