ข่าวใหม่อัพเดท » 9 องค์กรผนึกกำลัง สร้าง “แพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยน สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า” เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศ

9 องค์กรผนึกกำลัง สร้าง “แพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยน สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า” เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศ

25 พฤษภาคม 2023
0

9 องค์กรผนึกกำลัง สร้าง “แพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยน
สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า” เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศ

วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิด “การทดสอบภาคสนามจากผลงานโครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย” พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม , ศาสตราจารย์ ดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล ผู้แทนผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต, ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สายงานกลยุทธ์องค์กร ,ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) (สวทช.), ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล หัวหน้าโครงการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ณ ลานจอดรถ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (สวทช.) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (อว.) กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติ เป็นประธานในพิธีเปิดการทดสอบภาคสนามจากผลงานโครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นความสำเร็จของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จนเกิดผลงานที่ตอบโจทย์ภาคเอกชนและกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยมีจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ได้รับความนิยมและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ต้องมีความตระหนัก และต้องผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Roadmap 30@30) ที่ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30% ภายในปี ค.ศ.2030

โครงการนี้จะแสดงให้เห็นถึงการเกิดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้คือภาคเอกชน โดยมีรัฐบาลผลักดัน และยังแสดงถึงการเพิ่มขีดความสามารถของการสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาบุคลากรภาคการผลิตไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมและสนับสนุน จนมาถึงการทดสอบภาคสนาม ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อพัฒนาข้อกำหนดและระเบียบที่เกี่ยวข้องไปสู่เชิงพาณิชย์

“วันนี้เป็นบรรยากาศแห่งความสำเร็จ ที่เราจะได้เห็นอุตสาหกรรมรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าซึ่งมีอนาคตมาก ซึ่งประเทศไทยก็ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นจำนวนมาก ทั้งวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างและมอเตอร์ไซค์สำหรับส่งของ โดยมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีโดยเฉพาะแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าฯ ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ง่าย อย่างไรก็ตามการจะก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วต้องขายความรู้ ขายวิทยาศาสตร์ ขายเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้ผลิตภาพสูงขึ้นและแข่งขันกับนานาประเทศได้ โดยใช้เวลา 1 ปีครึ่ง ทีมวิจัยและภาคเอกชน สามารถทำให้เกิดแพ็กแบตเตอรี่สำเร็จ และรัฐบาลพร้อมจะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ไปสู่ต่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ดีต่อไป กระทรวง (อว.) ควรถูกจัดให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้เร็วขึ้น ดังนั้นขั้นต่อไปคือการก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น โดยต้องขายของที่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งออกสินค้าและเทคโนโลยีที่มีระดับสูงขึ้น หรือขายของอยู่บนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (อว.) กล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า พันธกิจของ (สวทช.) ที่มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม สนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศทั้งในภาคเศรษฐกิจและสังคม (สวทช.) มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่แก้ข้อจำกัดของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน รวมถึงพัฒนานวัตกรรมที่รองรับกับสถานการณ์ในอนาคต เน้นให้เกิดการใช้ได้จริงและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับภาคอุตสาหกรรมและเป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจ ที่จะต้องต่อยอดจุดแข็งของประเทศที่มีอยู่ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า จึงเป็นที่มาในการดำเนิน “โครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย”

โครงการดังกล่าว มีสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นผู้ให้ทุน และมีบริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด บริษัท จีพี มอ เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ไอ-มอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และบริษัท กริดวิซ (ประเทศ ไทย) จำกัด เป็นผู้ให้ทุนร่วม รวมทั้งดำเนินการวิจัยและพัฒนาร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโน โลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การผนึกกำลังของทั้ง 9 หน่วยงาน ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในไทยจนออกมาเป็นผลสำเร็จ ซึ่งก็คือแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพื่อนำไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย เกิดการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา และต่อยอดสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ในอนาคต

สำหรับโครงการนี้เป็นโครงการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้างต้นที่ต้องการผลักดันให้เกิดมาตรฐานเทคนิคกลางระหว่างแบตเตอรี่ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ตู้ประจุไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทย ส่งเสริมให้ผู้ให้บริการด้านแบตเตอรี่ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และตู้ประจุไฟฟ้าในแต่ละราย สามารถดำเนินการระหว่างกันได้ผ่านมาตรฐานกลางที่วางไว้ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานมอเตอร์ ไซค์ไฟฟ้า สามารถสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต การถือครองมอเตอร์ไซค์ แพ็กและสถานีประจุไฟฟ้า มุ่งหวังว่าจะส่งผลให้เกิดการใช้งานยานยนต์ที่สะดวกอย่างแพร่หลายและเกิดอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตนเองได้ภายในประเทศ

โดยในโครง การได้มีต้นแบบเกิดขึ้น คือ ต้นแบบแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยน 1 รุ่น ที่ใช้งานกับ ต้นแบบมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 2 รุ่น 2 ยี่ห้อ และต้นแบบสถานีสับเปลี่ยน 3 สถานี ซึ่งติดตั้งสถานีชาร์จที่บริเวณหน้าศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (สวทช.) ปั๊มน้ำมันบางจาก เอกมัย-รามอินทรา คู่ขนาน 4 กรุงเทพมหานคร และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี โดยจากนี้จะทดสอบต้นแบบทั้งหมดที่พัฒนาจากข้อกำหนดร่วมในสภาวะการใช้งานจริง เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะความเป็นไปได้ในการพัฒนาแพล็ตฟอร์มสำหรับประเทศไทยต่อไป


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!