วช. หนุน ม.ศิลปากร คิดค้นจมูกรับกลิ่นควันไฟ ด้วย “ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ” ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดไฟป่าด้วย IoT
วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) ได้มอบหมายให้กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำคณะสื่อมวลชนลง พื้นที่เพื่อเยี่ยมชมผลสำเร็จของกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม โครง การ “การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ” โดยมี รศ.ดร. ปานใจ ธารทัศนวงศ์ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินโครงการฯ ณ ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง และสถานีควบคุมไฟป่าแม่ปิง อุทยานแห่งชาติแม่ปิง อ.ลี้ จ.ลำพูน
รศ.ดร.ปานใจ ธารทัศนวงศ์ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากปัญหาไฟป่าในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน การใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตประสานสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) และเซ็นเซอร์วัดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลมหัต (Big data) ร่วมกับเทคนิคเหมืองข้อมูลในการวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองของการเกิดไฟป่า รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดไฟป่า และสามารถเตือนภัยการเกิดไฟป่าได้จริง ดังนั้น คณะนักวิจัยจึงได้จัดทำโครงการ “การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจาก (วช.) ภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงความมั่นคง ในการดำเนินงานคณะผู้วิจัยได้ศึกษาสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในพื้นที่วิจัย เพื่อทำการติดตั้งต้นแบบการเฝ้าระวังการเกิดไฟป่าบริเวณแนวกันไฟ ซึ่งเปรียบเสมือน “จมูก” ในการรับกลิ่นควันไฟก่อนจะเกิดไฟไหม้ป่าในวงกว้าง โดยทำการติดตั้งโหนดเซ็นเซอร์พร้อมระบบพลัง งานแสงอาทิตย์ จำนวน 9 ชุด ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตประสานสรรพสิ่ง (IoT) จากแพลตฟอร์ม CANARIN และ เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G/4G เพื่อรับ-ส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ไปยังศูนย์เฝ้าระวังไฟป่าซึ่งเป็นระบบ Cloud ที่สามารถให้ชุมชนและเจ้าหน้าที่จากสถานีควบคุมไฟป่าสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยใช้ระบบสาร สนเทศภูมิศาสตร์และแสดงผลในแผนที่บนแพลตฟอร์ม CANARIN อีกทั้งพัฒนาแบบจำลองที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ที่ทำการวิจัย ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังไฟป่า และมีการพัฒนาในส่วนการแจ้งเตือนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องและชุมชน เพื่อที่จะได้ทำการดับไฟได้อย่างทันท่วงทีโดยใช้แอปพลิเคชันไลน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่และทางอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการและสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังไฟป่ากับโครงการวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการ STIC-ASIA : SEA-HAZEMON (Low-cost Real-time Monitoring of Haze Air Quality Disasters in Rural Communities in Thailand and Southeast Asia) และโครงการ SEA-HAZEMON@TEIN โดยติดตามคุณภาพอากาศในประเทศไทย ลาว ฟิลิปปินส์ และอินโดนิเชีย ปัจจุบันมีการติดตั้งโหนดเซ็นเซอร์ไปแล้วประมาณ 100 แห่ง ซึ่งการทำงานของโหนดเซ็นเซอร์ทั้งหมดของทุกโครงการจะสามารถบูรณาการข้อมูลกันได้ผ่านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในแพลตฟอร์ม CANARIN ซึ่งการบูรณาการครั้งนี้จะทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการเกิดไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ทำให้ไฟป่าลุกลามเป็นบริเวณกว้าง รวมถึงการเกิดไฟป่าในประเทศเพื่อนบ้าน
จากความสำเร็จของโครงการฯ คณะนักวิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้และบำรุงรักษาระบบแก่บุคลากรของสถานีควบคุมไฟป่า ตลอดจนชุมชนโดยรอบ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังไฟป่าและการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยใช้การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เกี่ยวข้อง อบรมการใช้ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ และจัดทำสื่อการสอนดิจิทัล (e-Learning) ทั้งนี้ ระหว่างการดำเนินงานของคณะนักวิจัยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากชุมชนดอยช้างป่าแป๋ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน,สถานีควบคุมไฟป่าบ้านโฮ่ง-ลำพูน,สถานีควบคุมไฟป่าผาเมือง-ลำพูน,สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำพูน ซึ่งความสำเร็จงานวิจัยนี้ยังสามารถนำไปขยายผลในพื้นที่ป่าอื่นๆ ได้อีกด้วย
การลงพื้นที่เยี่ยมชมความสำเร็จของโครงการ “การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ” ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้นำชุมชนในพื้นที่ ได้แก่ คุณบัญชา มุแฮ จากชุมชนกะเหรี่ยงดอยช้างป่าแป๋ คุณภัทร์ไพบูลย์ เรือนสอน ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟอราบิก้าจังหวัดลำพูน และคุณวิสาทภรณ์ วาจาหวาน หัวหน้าชุดดับไฟป่า สถานีควบคุมไฟป่าแม่ปิง ได้กล่าวถึงการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการนำงานวิจัยระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ ซึ่งงานวิจัยนี้ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อส่วนรวม สามารถระบุพิกัดการเกิดไฟป่าได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้การควบคุมไฟป่ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวดเร็วขึ้น แล้วหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะได้รับการต่อยอดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก และสามารถขยายผลในพื้นที่ที่มีปัญหาเช่นเดียวกันนี้ต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน