วช.นำนักประดิษฐ์ไทย คว้ารางวัลสูงสุด The Best Foreign Innovation Award จากงาน INTARG 2023 ณ เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำทีมนักประดิษฐ์ไทยจากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีคว้ารางวัลสูงสุด The Best Foreign Innovation Award จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในเวที The 16th International Invention and Innovation Show (INTARG 2023) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ณ MCK Katowice,International Congress Centre เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล The Best Foreign Innovation Award ได้แก่ ผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ถ่างขยายหลอดเลือดสำหรับผู้ป่วยที่หลอดเลือดตีบตันจากการผ่าตัดทำเส้นเลือดสำหรับฟอกไตจากวัสดุโลหะผสมจำรูปนิกเกิล-ไทเทเนียม” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นการใช้ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือด ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางเลือกใหม่ ที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยในการรักษาแทนบอลลูนเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและยืดอายุการใช้งานของหลอดเลือดฟอกไต พร้อมนี้ผลงานดังกล่าวยังได้รับรางวัลในระดับ Platinum Medal อีกด้วย
พร้อมนี้ ทีมนักประดิษฐ์ไทยยังได้รับรางวัลสำคัญ on stage ของงาน ได้แก่
- รางวัล Diamond Medal จากผลงานเรื่อง “นวัตกรรมเชิงศิลป์ (Aesthetic Innovation) : การประยุกต์ใช้เศษแก้วในการประดิษฐ์เป็นกระจกเกรียบโบราณ (Thai ancient glass) เพื่อเพิ่มคุณค่างานศิลปกรรมไทย” โดยนายรัชพล เต๋จ๊ะยา และคณะ จากโรงเรียนสตรีวิทยา และยังได้รับรางวัล Special Prize on stage จาก Europe France Inventeurs (The French Federation of Inventions Award)
นอกจากนี้ สิ่งประดิษฐและและนวัตกรรมอีก 3 ผลงานที่ได้รับ Special Prizes on stage จากองค์กรนานาชาติ ดังนี้
- ผลงานเรื่อง “ชุดปลูกพืชสำเร็จรูปสำหรับช่วงภัยพิบัติ” โดย ดร.มนสินี อรรถวานิช, นายกฤษฎา พลทรัพย์ และนายระพี บุญบุตร จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับรางวัลจาก The 1st Institute Inventors and Researchers in I.R.Iran (FIRI Award)
- ผลงานเรื่อง “สารสกัดสมุนไพรเข้มข้นเซลล์แมททริทซ์ เพื่อบำรุงสมอง” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ และคณะจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลจาก World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA Special Award)
- ผลงานเรื่อง “ชุดตรวจดีเอ็นเออย่างรวดเร็วแบบแถบสีที่จำเพาะต่อพืชพิษสกุลอริสโทโลเกียที่ทำให้เกิดโรคไตจากกรดอริสโทโลคิก” โดย ร้อยตำรวจเอกหญิง ดร.สุชาดา สุขหร่อง,ดร.กรรณิกา ทองขาว และ เภสัชกรชยพล ตั้งพัฒน์ทอง จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลจาก Industrial Property Office of the Czech Republic (Industrial Property Office Patent Award)
ใน INTARG 2023 ผลงานของนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยได้คว้าเหรียญรางวัลในระดับต่างๆ ดังนี้
-เหรียญทอง 18 ผลงาน
-เหรียญเงิน 5 ผลงาน
-เหรียญทองแดง 6 ผลงาน
พร้อมด้วย Special Prize จากนานาประเทศ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) ได้ร่วมในพิธีมอบรางวัลและร่วมแสดงแสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์นักวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวที INTARG 2023 พร้อมกล่าวชื่นชมทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยที่ได้สร้างชื่อเสียงและการยอมรับในมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของประเทศไทย ในเวทีนานาชาติในครั้งนี้ รวมทั้ง โอกาสในการส่งเสริมและต่อยอดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป
สำหรับ 19 หน่วยงานจากประเทศไทยที่ร่วมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในการคว้ารางวัลในเวที The 16th International Invention and Innovation Show (INTARG 2023) ได้แก่
• จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
• มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
• มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
• มหาวิทยาลัยบูรพา
• มหาวิทยาลัยนเรศวร
• มหาวิทยาลัยแม่โจ้
• มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
• มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
• มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
• สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
• มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
• มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
• โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี
• โรงเรียนสตรีวิทยา
• โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
• การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
• การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ
• มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน