วช.จับมือหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ เตรียมจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” (Thailand Research Expo 2023)
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย จัดแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ ชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ โดยในปีนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน เป็นประธานในพิธีเปิดงานในวันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2566
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) กล่าวว่า (วช.) ให้ความสำคัญกับความร่วมมือของเครือข่ายในระบบวิจัยและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ได้สร้างกลไกการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ” ขึ้น ตั้งแต่ปี 2549 เพื่อเป็นเวทีระดับชาติในการนำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์ และขับเคลื่อนให้เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัย และสร้างโอกาสในการเข้าถึงผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากทุกภาคส่วน ซึ่ง (วช.) มุ่งเน้นความร่วมมือและการบูรณาการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ สำหรับในปีนี้ (วช.) และเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ได้ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” ขึ้น เป็นปีที่ 18 โดยจะผลงานวิจัยร่วมนำเสนอในภาคนิทรรศการและภาคการประชุมร่วม 1,000 ผลงาน จากเครือข่ายในระบบวิจัยมากกว่า 170 หน่วยงาน
ความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย ทั่วประเทศและทุกภาคส่วนในครั้งนี้ มุ่งหมายการนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาการ ผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ สามารถที่จะเชื่อมโยง การบูรณาการองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งเป็นการสนับสนุนให้เกิดกลไกในการพัฒนาส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้พัฒนางานวิจัย ผู้สร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม สู่การใช้ประโยชน์ การจัดงานในปีนี้ แสดงให้เห็นความต่อเนื่องและเข้มแข็งของกลไกความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย ในการนำผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ รวมถึงการสนับสนุน การส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องที่จะนำสู่เป้าหมายในการพัฒนาขับเคลื่อน เศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์
สำหรับกิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจ ประกอบด้วยภาคการประชุมที่มีหัวข้อการประชุมสัมมนา กว่า 100 หัวข้อ ที่มีประเด็นที่น่าสนใจทั้งเรื่องของการบริหารจัดการงานวิจัย ปัญหาสำคัญของประเทศ และเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคม และการประชุมให้ความรู้ด้านเทคนิคการวิจัยในช่วง Twilight Program
สำหรับในภาคนิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย
พร้อมด้วย การนำเสนอนิทรรศการผลงานวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย ซึ่งมีการนำเสนอผลงานภายใต้ 6 Theme สำคัญ ได้แก่
1) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG
2) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
4) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับสังคมอย่างยั่งยืน
5) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
6) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพของชุมชน
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา นิทรรศการนำเสนอบทความผลงานวิจัย การจัดกิจกรรม Highlight Stage ซึ่งเป็นเวทีหลักที่ใช้เทคนิคการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความพร้อมใช้ประโยชน์ กิจกรรมการให้คำปรึกษาเรื่องการวิจัย และการเจรจาธุรกิจ รวมถึงการมอบรางวัลมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 การประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา 2566 และการยกย่องเชิดชูเกียรติคุณนักวิจัย ทั้งศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น (วช.) และเมธีวิจัยอาวุโส (วช.)
ทั้งนี้ ภายในงานแถลงข่าวฯ ดร.วิภารัตน์ ได้ร่วมเสวนาในเวที “Thailand Research Expo Talk : เวทีรวมพลังวิจัยไทยก้าวไกล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา อาทิ ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม,รศ.ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร ประธานเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย : RUN,ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล,ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงช่วง “Platinum Award Talk : เสริมพลังประชาคมวิจัย ด้วยรางวัลแห่งเกียรติยศ” ซึ่ง (วช.) ได้เชิญผู้บริหารหน่วยงานได้รับรางวัล Platinum Award ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565” มาร่วมพูดคุย
ในปีนี้ (วช.) ได้เชิญ “คุณพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร” นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้มาร่วมเป็นทูตวิจัย ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 ซึ่งจะร่วมเป็นตัวแทนในการสร้างพลังเพื่อสื่อสารเรื่องงานวิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นเรื่องใกล้ตัว และเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย
พร้อมกันนี้ภายในงานแถลงข่าวฯ ยังได้มีการจัดแสดงตัวอย่างผลงานวิจัยไฮไลท์ เช่น เปลี่ยนขยะเป็นกราฟีนมูลค่าสูง ผลงานต้นแบบจากทีมวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ที่สามารถผลิตกราฟีนวัสดุแห่งอนาคตจากขยะชีวมวล ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากกว่า 1,000 เท่า หุ่นยนต์ล้างแผงโซล่าร์เซลล์ (Robotic Solar Cleaner) ผลงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่เน้นการใช้งานง่าย โดยยึดติดกับแผงโซล่าร์เซลล์ สั่งงานได้ผ่านมือถือ โครงการฟื้นฟูและต่อยอดผ้าลายอย่าง เอกลักษณ์ อยุธยา “จุฬาพัสตร์” สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ผลงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ที่ต่อยอดความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูและยกระดับลายผ้าโบราณให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความร่วมสมัยแต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์จากมรดกภูมิปัญญาของชุมชน เครื่องวัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจพร้อมการตอบสนองด้วยเสียง ผลงานจากสถาบันพระบรมราชชนก ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการคัดกรองระดับการติดบุหรี่และติดตามผลการเลิกบุหรี่ และการใช้ประโยชน์จากโปรตีนจิ้งหรีด เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟังก์ชั่นนอลฟู้ด สูตรโปรตีนสูงไขมันต่ำ และนวัตกรรมเซลล์เคมีไฟฟ้าขั้นสูงสำหรับบำบัดน้ำในระบบเลี้ยงปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โคมไฟเซราสาน ผลงานจากมหาวิทยาลัยบูรพา ที่ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่โดยใช้วัสดุไผ่ท้องถิ่นในจังหวัดชลบุรีเป็นผลงานจักสานที่บูรณาการร่วมกับผลงานเซรามิกส์ ทรายแมวจากกากมันสำปะหลัง ผลงานจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เกิดจากกากมันสำปะหลังที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลังที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบหลักในปริมาณที่สูง การผลิตเครื่องปรุงรสจากปลาร้าด้วยเทคโนโลยีกล้าเชื้อจุลินทรีย์ ผลงานจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงที่สำคัญของอาหารไทย จากปลาน้ำจืดโดยกระบวนการหมักแบบธรรมชาติ ฯลฯ
งาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ที่ ห้องประชุมชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2579-1370-9 ต่อ 515, 517, 518
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน