ข่าวใหม่อัพเดท » เชิญเที่ยวงาน “เทศกาลลำไยและเกษตรแฟร์ลำพูน 2566” ระหว่างวันที่ 4 – 13 สิงหาคม 2566

เชิญเที่ยวงาน “เทศกาลลำไยและเกษตรแฟร์ลำพูน 2566” ระหว่างวันที่ 4 – 13 สิงหาคม 2566

26 กรกฎาคม 2023
0

เชิญเที่ยวงาน “เทศกาลลำไยและเกษตรแฟร์ลำพูน 2566” ระหว่างวันที่ 4 – 13 สิงหาคม 2566 เพื่อส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรโดยเฉพาะลำไยและผลิตภัณฑ์ของดีจังหวัดลำพูน

วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมหริภุญชัย ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลำพูน นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดลำพูน (กรอ.จังหวัดลำพูน) ครั้งที่ 5/2566 เพื่อหารือและระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาทางเศรษฐกิจของจังหวัด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ร่วมกัน โดยมีนายบุญส่ง ไชยมณี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำพูน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ผู้แทนหอการค้าจังหวัดลำพูน เผยว่า หอการค้าจังหวัดลำพูน กำหนดจัดงาน “เทศกาลลำไย และเกษตรแฟร์ลำพูน 2566” หอการค้าแฟร์ ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 4 – 13 สิงหาคม 2566 รวม 10 วัน ณ บริเวณสถานที่เอกชน บ้านแม่สารป่าแดด ถนนลำพูน – ดอยติ ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะลำไย สินค้าและผลิตภัณฑ์ของดีจังหวัดลำพูน การจัดแสดงนิทรรศการทางการเกษตร-นวัตกรรม เพื่ออัพเกรดสู่เกษตรมูลค่าสูง กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยด้านการค้าการลงทุน ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดลำพูน โดยจะมีรูปแบบการจัดงาน ได้แก่ การจัดแสดงและจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะลำไย และการประกวดลำไยสดช่อ การจัดแสดงนวัตกรรมทางการเกษตร เครื่องมือทางการเกษตร และองค์ความรู้ทางวิชาการด้านเกษตรมูลค่าสูง การจัดกิจกรรมประกวดพืชผลทางการเกษตรและสัตว์เศรษฐกิจ การจัดแสดงสินค้าอุปโภค บริโภค ผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP และสินค้าที่จำเป็นสำหรับลดค่าครองชีพที่มีคุณภาพ และราคาประหยัด การจัดแสดงมอเตอร์โชว์ของค่ายรถยนต์ต่างๆ การประกวดศิลปวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ และการจัดแสดงดนตรี โดยศิลปินจากค่ายเพลงต่าง ๆ ทั้งนี้ หอการค้าจังหวัดลำพูนขอประชาสัมพันธ์ เชิญชวน ส่วนราชการ เครือข่ายเกษตรกร และเครือข่ายภาคเอกชน เช่น กลุ่มแปลงใหญ่เกษตรกร เครือสหพัฒน์ฯ CP, CP All และเบทาโกร ฯลฯ ร่วมจัดแสดงนิทรรศการทางวิชาการเกษตร – นวัตกรรม และการประกวดลำไยช่อ ถือเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้ทางการเกษตรและสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรของจังหวัดลำพูน

ด้านผู้แทนเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำพูน เผยว่า สถานการณ์ผลผลิตลำไยจังหวัดลำพูน ปี 2566 มีจำนวนเกษตรกรในปี 2566 จำนวน 50,947 ราย ลดลงจากปี 2565 จำนวน 1,588 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.91 เนื้อที่ยืนต้นในปี 2566 จำนวน 364,050 ไร่ ลดลงจากปี 2565 จำนาน 3,893 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.06 เนื้อที่ให้ผลผลิตในปี 2566 จำนวน 346,254 ไร่ ลดลง จำนวน 139 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.04 โดยจำแนกเป็นลำไยในฤดู ปี 2566 จำนวน 247,180 ไร่ ลดลงจากปี 2565 จำนวน 7,614 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.37 ลำไยนอกฤดูปี 2566 จำนวน 99,074 ไร่ ลดลงจากปี 2565 จำนวน 8,475 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9.35 ผลผลิตลำไยทั้งหมดในปี 2566 จำนวน 367,692 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 885 ตัน คิดเป็นร้อยละ 0.24 แบ่งเป็นลำไยในฤดู ปี 2566 มีผลผลิตจำนวน 237,043 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 9,385 ตัน คิดเป็นร้อยละ 3.81 ลำไยนอกฤดู ในปี 2566 มีผลผลิตจำนวน 130,469 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 10,270 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.53 ผลผลิตเฉลี่ยต่อกิโลกรัม ปี 2566 จำนวน 1,062 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 3 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.28 ในส่วนของการรองรับมาตรฐาน GAP (ลำไย) จังหวัดลำพูนมีผู้ปลูกลำไย จำนวน 52,947 ราย มีเกษตรกรที่ผ่านการรับรอง GAP จำนวน 13,164 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.86 มีเนื้อที่ให้ผลผลิต จำนวน 346,050 ไร่ ผ่านการรับรองมาตรฐาน จำนวน 101,354.18 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 29.28

สำหรับสถานการณ์ มะม่วง ในจังหวัดลำพูน ปี 2566 มีเกษตรกรปลูกมะม่วง จำนวน 11,019 ครัวเรือน มีเนื้อที่ยืนต้น 44,775 ไร่ มีเนื้อที่ให้ผลผลิต 40,657 ไร่ ให้ผลผลิตจำนวน 93,294 ตัน ผลผลิตต่อไร่ จำนวน 2,295 กิโลกรัม โดยผลผลิตส่วนใหญ่จะออกผลผลิตช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม สำหรับการรองรับมาตรฐานการผลิต GAP (มะม่วง) มีเกษตรกรจำนวน 11,019 ราย เกษตรกรที่ผ่านมาตรฐาน GAP จำนวน 2,560 ราย คิดเป็นร้อยละ 23.23 สำหรับเนื้อที่ให้ผลผลิตจำนวน 40,657 ไร่ ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 12,108.57 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 29.78 ในส่วนของการคาดการณ์ผลผลิตมะม่วงปี 2566 ผลผลิตมะม่วงจะเริ่มมีการเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป โดยเป็นพันธ์โชคอนันต์ น้ำดอกไม้สีทองงาช้างแดง แดงจักรพรรดิ และเขียวเสวย ส่วนในช่วงเดือนพฤษภาคม จะเป็นพันธุ์มหาชนกที่ออกผลผลิตมากที่สุด และผลผลิตมะม่วงจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนกรกฎาคม 35.701% ส่วนเดือนสิงหาคม 27.29 ตามลำดับโดยเป็นพันธุ์ เขียวมรกตที่มีการเพาะปลูกมากที่สุด


นที มีเดช

error: Content is protected !!