กรมศุลกากร สกัดจับ น้ำมันดีเซล และ เฮโรอีน ลักลอบนำเข้าและส่งออกนอกประเทศ
เมื่อวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2566 เวลา 14.30 น. : นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เป็นประธานในการแถลงข่าวกรณีกรมศุลกากรจับกุมน้ำมันดีเซลจำนวน 114,000 ลิตร มูลค่า 3,641,160 บาท ลัก ลอบนำเข้ามาราชอาณาจักร และยึดเฮโรอีนเตรียมส่งออกนอกราชอาณาจักรซุกซ่อนอยู่ภายในซองแผ่นประคบร้อน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 3.5 กิโลกรัม มูลค่า 10.5 ล้านบาท ณ บริเวณคลังของกลาง กรมศุลกากร
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ได้ให้ความสำคัญในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ จึงมอบหมายให้นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ รองอธิบดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร นายถวัลย์ รอดจิตต์ ผู้อำนวยการกองสืบสวนและปราบปราม พร้อมเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2566 เวลาประมาณ 21.00 น. เจ้าหน้าที่กองสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปนม.ตร.) ได้ทำการตรวจค้นรถบรรทุกน้ำมันจำนวน 3 คัน ที่บริเวณริมถนนบางนา – ตราด ขาเข้า กม.37 ต.บางสมัคร อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากได้รับแจ้งจากสายลับว่าจะมีรถบรรทุกน้ำมัน โดยภายในรถมีน้ำมันที่มีเมืองกำเนิดต่างประเทศและไม่มีเอกสารการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องจะขับผ่านมาบริเวณดังกล่าว
ผลการตรวจค้นพบน้ำมันดีเซล จำนวน 114,000 ลิตร มูลค่า 3,641,160 บาท เบื้องต้นไม่มีหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ จึงยึดน้ำมันของกลางและยานพาหนะที่ใช้กระทำความผิด จำนวน 3 คัน ซึ่งยานพาหนะมีมูลค่าประมาณ 7,700,000 บาท รวมมูลค่าของกลางทั้งหมดประมาน 11,341,160 บาท นำส่งกรมศุลกากร เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
กรณีดังกล่าวเป็นการนำของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ ซึ่งของอันตนพึงรู้ว่ามิได้ผ่านพิธีการศุลกากรอันเป็นกระทำความผิดตาม มาตรา 242 หรือ มาตรา 246 ประกอบ มาตรา 166 และ มาตรา 167 แห่ง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 สำหรับสถิติในการจับกุมการลักลอบนำน้ำมันเชื้อเพลิง (ดีเซล) เข้ามาในราชอาณาจักร ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565–ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2566) มีจำนวน 642 รายปริมาณ 440,168 ลิตร มูลค่ากว่า 10,834,000 บาท ทั้งนี้ กรมศุลกากรจะให้ความสำคัญกับการปราบปรามการลักลอบนำน้ำมันเชื้อเพลิง (ดีเซล) เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อเป็นการปกป้องสังคมและสร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจของประเทศต่อไป
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้กรมศุลกากรยังได้ให้ความสำคัญในภารกิจปกป้องสังคม ให้ปราศจากการลักลอบนำเข้าสิ่งผิดกฎหมายและยาเสพติด จึงให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกรมศุลกากร เพิ่มความเข้มงวดเป็นพิเศษในการป้องกัน สกัดกั้นยาเสพติดให้โทษ และบูรณาการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ กรมศุลกากรพบกล่องพัสดุด่วนพิเศษระหว่างประเทศ ต้นทางจากเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ปลายทางเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 หีบห่อ มีความน่าสงสัยจึงให้เจ้าหน้าที่ภายใต้การกำกับดูแลของนายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ รองอธิบดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร นายถวัลย์ รอดจิตต์ ผู้อำนวยการกองสืบสวนและปราบปราม และนายจักกฤช อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกับชุดปฏิบัติการ AITF (AIRPORT INTERDICTION TASK FORCE) ประกอบด้วย กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ร่วมกันวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร และทำการตรวจสอบพัสดุดังกล่าว ซึ่งสำแดงชนิดสินค้าเป็น PILL PATCH,COUGH PILLS,SNACK น้ำหนักรวม 10.790 กิโลกรัม จากการตรวจสอบสินค้า PILL PATCH จำนวน 12 ถุง (แผ่นประคบร้อน) พบร่องรอยการถูกปิดผนึกใหม่ด้วยความร้อน โดยภายในแต่ละถุงบรรจุซองย่อยอีก จำนวน 4 ซอง รวมทั้งสิ้น 48 ซอง มีร่องรอยการปิดผนึกใหม่เช่นกันทุกซอง จึงได้เปิดซองออกตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน (Heroine) ซุกซ่อนอยู่ภายใน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 3.5 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 10.5 ล้านบาท
โดยการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 242,244 ประกอบมาตรา 252 ซึ่งเป็นของอันพึงต้องริบ ตามมาตรา 166 และ มาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 จึงส่งให้ผู้ที่เกี่ยวของดำเนินคดีต่อไป
สำหรับสถิติจับกุมยาเสพติดกรมศุลกากร ตั้งแต่ประจำปีงบประมาณ 2566-ปัจจุบัน (ตุลาคม-กรกฎาคม 2566) มีจำนวน 148 ราย มูลค่า 1,022,513,880 บาท
นอกจากประเด็นดังกล่าวข้างต้น โฆษกกรมศุลกากร ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำเงินตราไทยและเงินตราต่างประเทศ ออกไปนอก และเข้ามาในราชอาณาจักร อีกด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน