ข่าวใหม่อัพเดท » วช.-สวทช. เปิดตัว 6 นักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2565-2566 รับทุนส่งเสริมผลงานตอบโจทย์และขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วช.-สวทช. เปิดตัว 6 นักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2565-2566 รับทุนส่งเสริมผลงานตอบโจทย์และขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

9 สิงหาคม 2023
0

วช.-สวทช. เปิดตัว 6 นักวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2565-2566 รับทุนส่งเสริมผลงานตอบโจทย์และขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ณ ห้อง Lotus Suite 7 ชั้น 22 บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมจัด “งานเปิดตัวนักวิจัยศักยภาพสูงและแถลงงานวิจัย ประจำปี 2565-2566” โดยมีนายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโล ยีแห่งชาติ (สวทช.), ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ และศาสตราจารย์ กิตติคุณ นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว 6 นักวิจัย ศักยภาพสูง และแถลงความก้าวหน้าผลงานและประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัย ประจำปี 2565-2566 พร้อมด้วยคณะกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ผู้บริหาร (วช.) ผู้บริหาร (สวทช.) ผู้บริหารต้นสังกัดนักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงาน

นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรและสถาบันความรู้ ซึ่งเป็นพันธกิจและกลไกสำคัญประการหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยในปี 2565 (วช.) ร่วมกับ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดตั้งโครงการ “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” โดยมีวัตถุประสงค์

  1. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยไทย เพื่อให้เกิดกลุ่มวิจัยที่เข้มแข็ง ทำงานเป็นทีม และมีโครงสร้างการพัฒนานักวิจัยอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับนักศึกษา นักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยรุ่นกลาง จนถึงนักวิจัยอาวุโส
  2. สร้างและบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อสร้างผลกระทบ และความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยสอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของประเทศ
  3. สร้างโอกาสการวิจัยและการใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ เช่น ด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและชุมชน ด้านนโยบาย และ
  4. สร้างเครือข่ายการวิจัยระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อผลักดันผลผลิตงานวิจัย รวมถึงการสื่อสารข้อค้นพบทางวิชาการให้กับสังคมและชุมชน และการตอบสนองต่อปัญหาวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ

โดยนักวิจัยศักยภาพสูงเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ หรือ นักวิจัยที่มีศักยภาพเทียบเคียงได้กับนักวิจัยระดับศาสตราจารย์ หรือนักวิจัยความสามารถสูงมีผลงานโดดเด่น (วช.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักวิจัยและคณะ จะได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ เชื่อมโยงกับการใช้ประโยชน์ โครงสร้างพื้นฐานการวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศ นำไปสู่การสร้างความเป็นเลิศทางการวิจัยและพัฒนาของประเทศอย่างก้าวกระโดดต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ (สวทช.) กล่าวว่า (สวทช.) เป็นหน่วยงานวิจัยระดับประเทศ เป็นดั่ง “ขุมพลังหลักด้านการวิจัย” ที่ผลักดัน ส่งเสริมการพัฒนาและความแข็งแกร่งระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม โดยอาศัยความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทค โนโลยี พันธกิจที่สำคัญของ สวทช. มุ่งเสริมสร้างการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ และถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ สร้างผลกระทบต่อประชาชนและสังคมหมู่มาก รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนากำลังคน และการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง (วช.) และ (สวทช.) จัดตั้งโครงการ “ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง” (สวทช.) ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการโครงการ โดยอาศัยกระบวนการบริหารจัดการงานวิจัยและกลไกบริหารโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่ (สวทช.) มีอยู่ และการส่งเสริมการทำงานของกลุ่มนักวิจัย ให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ (สวทช.) เป็นผู้รับผิดชอบดูแล เช่น ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพ หรือในด้านธุรกิจและทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะช่วยเสริมการทำงานของกลุ่มนักวิจัยที่ได้รับทุนให้บรรลุเป้าหมายตามที่มุ่งหวัง รวมถึงการส่งเสริม ผลักดัน ผลงานวิจัยให้ไปใช้ประโยชน์มากขึ้นในอนาคต หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูงภายใต้ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน จะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ และสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมและเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางในอนาคต

ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง กล่าวแสดงความยินดีและชื่นชมนักวิจัยและทีมวิจัยที่ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูงที่มีความมุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงานวิจัย นอกจากสร้างชื่อเสียงให้นักวิจัยแล้ว ยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับหน่วยงานต้นสังกัด โดยทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ปี 2565 ให้การสนับสนุนสาขาวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และสุขภาพ ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ ดร.โกวิท พัฒนาปัญญาสัตย์ สาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ได้แก่ ศ.พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล และสาขาเกษตรศาสตร ได้แก่ ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ สำหรับปี 2566 ให้การสนับสนุนสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสุขภาพ ได้แก่ ศ.นพ.วิศิษฎ์ ทองบุญเกิด สาขาเกษตรศาสตร์ ได้แก่ รศ. ดร.ครศร ศรีกุลนาถ และสาขาสังคมศาสตร์ ได้แก่ ศ. ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ทั้งนี้ การสนับสนุนจากทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง จะช่วยสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณค่า ที่เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวาง รวมทั้งพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ทีมวิจัย จากรุ่นเล็กเป็นรุ่นกลาง จากรุ่นกลางเป็นรุ่นใหญ่ และรุ่นใหญ่อยู่แล้วอย่างทั้ง 6 ท่าน ที่จะนำความรู้ทางวิชาการ เชื่อมโยงไปสู่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือผลักดันไปสู่นโยบายที่มีประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศต่อไป

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง และประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กองทุนส่งเสริม (ววน.) กล่าวแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับนักวิจัยทั้ง 6 ท่าน และทีมวิจัย ที่ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูงครับ ทุกท่านล้วนเป็นนักวิจัยระดับแนวหน้าของประเทศ มีผลงานวิจัยโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง เป็นกลไกระดับสูง เป็นทุนวิจัยที่อยู่ในส่วนปลายยอดพีระมิดของนักวิจัยในประเทศไทย ต่อเนื่องจากการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ รุ่นกลาง รุ่นอาวุโส จะช่วยผลักดันการสร้างทีมวิจัยที่เข้มแข็งในการพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานแบบกลุ่มวิจัยจะมีโอกาสที่จะสร้างผลงานวิจัยแบบทวีคูณ มีผลกระทบสูง ต่อยอดและยกระดับผลงานวิจัยได้ดีกว่าการทำงานแบบเดี่ยว และยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยแต่ละคนได้เร็วขึ้น การดำเนินการในลักษณะแบบกลุ่มวิจัยนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น

  1. ผู้นำกลุ่มต้องมีกรอบความคิดการเป็นผู้นำ และทีมวิจัยมีการทำงานอย่างเท่าเทียม
  2. ตั้งเป้าหมายและพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศในด้านต่างๆ
  3. มีการบริหารจัดการของกลุ่มวิจัยที่ดี สามารถดำเนินการและส่งมอบผลงานได้ตามระยะเวลาที่กำหนด และ
  4. หน่วยงานต้นสังกัดต้องมีความเข้มแข็ง อำนวยความสะดวกให้แก่นักวิจัย ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานด้านต่างๆ ขอให้นักวิจัยนำโอกาสที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยนี้ไปพัฒนาความเป็นเลิศในงานวิจัย ดำเนินการวิจัยสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย สร้างกลุ่มวิจัยที่เข็มแข็ง สามารถแข่งขันไปขอรับทุนวิจัยระดับสูงจากแหล่งทุนอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือการเป็นที่พึ่งพา เป็นคลังสมองของประเทศและระดับนานาชาติ

ภายในงานยังมีการแถลงงานวิจัยของนักวิจัยศักยภาพสูงและแถลงงานวิจัย ประจำปี 2565-2566 โดยหัวหน้าโครงการ และแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการวิจัยดังกล่าว

ผู้ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2565 จำนวน 3 ท่าน ได้แก่

1.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.โกวิท พัฒนาปัญญาสัตย์ สังกัด มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการ
“การปรับแต่งเอ็กโซโซมเพื่อการนำส่งยาจำเพาะแม่นยำสำหรับรักษาโรคทางระบบประสาท หัวใจ และหลอดเลือด” โดยมุ่งเน้นการศึกษาบทบาทของเอกซ์ตร้าเซลลูลาร์เวสซิเคิล หรือถุงนอกเซลล์ (EVs) เพื่อการรักษาในโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคสมองขาดเลือด และโรคอัลไซเมอร์

2.ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล สังกัด มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกัมมันตรังสีในอวกาศ” โดยการสร้างเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ในพลาสมาและความปั่นป่วนแม่เหล็กในอวกาศ ซึ่งเป็นสิ่งกำกับการขนส่งของกัมมันตรังสีในอวกาศ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งที่จะเตือนภัยผลกระทบทางสภาพอวกาศ

3.ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ สังกัด ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช.โครงการ “การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ของกลไกการอยู่ร่วมกันของกุ้งและไวรัสเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกุ้ง” โดยมีเป้าหมายที่จะค้นหาและคัดเลือกชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของไวรัสที่แทรกอยู่ในจีโนมของกุ้ง (EVEs) และ viral copy DNA (vcDNA) ของกุ้ง และศึกษากลไกที่ใช้ในการต้านเชื้อไวรัส เพื่อการประยุกต์ใช้ในการควบคุมโรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกุ้ง

ผู้ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง ประจำปี 2566 จำนวน 3 ท่าน ได้แก่

1.ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ สังกัด สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โครงการ “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งพื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย” เพื่อสร้างแนวทางในการสร้างชุมชนในระดับตำบลและระดับจังหวัดให้มีความเข้มแข็ง เป็นการพัฒนา “พื้นที่ส่วนกลาง” ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการกำหนดความเป็นไปของชุมชนหรือพื้นที่ เพื่อเป็นรากฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทยที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับสังคมไทยต่อไปภายหน้า

2.ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิศิษฎ์ ทองบุญเกิด สังกัด มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการ “การค้นหาระบุชนิดและลักษณะเฉพาะของโปรตีนในปัสสาวะที่มีฤทธิ์ยับยั้งหรือกระตุ้นการเกิดนิ่วไตชนิดแคลเซี่ยมอ๊อกซาเลทแบบครอบคลุม” โดยจะระบุชนิดและคุณลักษณะของโปรตีนในปัสสาวะที่เป็นตัวยับยั้งหรือกระตุ้นการเกิดก้อนนิ่วในไตจากปัสสาวะของคนปกติและปัสสาวะของผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ่วไตชนิดแคลเซี่ยมอ๊อกซาเลท (CaOx) ใช้เทคนิคโปรตีโอมิกส์ร่วมกับเทคโนโลยีชีวภาพอื่นๆ เพื่อการวินิจฉัย การพยากรณ์โรค และการป้องกันโรคนิ่วไตต่อไปในอนาคต

3.รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ สังกัด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการ “การเพิ่มขีดความสามารถการปรับปรุงพันธุ์กลุ่มปลาดุก (ปลาดุกอุย ปลาดุกยักษ์ และลูกผสมบิ๊กอุย) เพื่อยกระดับผลผลิตและนวัตกรรมอุตสาหกรรมสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน” โดยศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม และการปรับตัวของปลาดุกอุยภายใต้การคัดเลือกโดยธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีจีโนมิกส์ร่วมกับการวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ทางนิเวศ ในแหล่งธรรมชาติ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงและผลิตภัณฑ์ปลาดุกให้มีคุณภาพสูง

ผลงานที่จะเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของนักวิจัยศักยภาพสูงทั้ง 6 ท่าน มุ่งเน้นผลสำเร็จ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและชุมชน และด้านนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!