วช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย MOU ขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนด้านเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้า
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การขับเคลื่อนและเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน ด้านเกษตรอินทรีย์เชิงธุรกิจในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้า ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเชิงบูรณาการ” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) พร้อมด้วย นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ,ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,นายเตชพล ฐิตยารักษ์ รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา,นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน,นายปรัชญ์ลือ พิณกาญจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และ นายอรุษ นวราช นายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย ณ เวที Highlight Stage มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) ภายใต้กระทรวง (อว.) ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับ ผศ.ดร.สุพจน์ กาเซ็ม แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการดำเนินโครงการ “การเพิ่มศักยภาพการผลิตและห่วงโซ่คุณค่าเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้า ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีเชิงบูรณาการเพื่อยกระดับมาตรฐานและรายได้ของชุมชน” มาตั้งแต่ปี 2564 และในปี 2565 (วช.) ได้สนับสนุนงบประมาณต่อเนื่องเพื่อดำเนินโครงการ “การเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนแก่กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนบางกะเจ้าเกษตรอินทรีย์ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี เชิงบูรณาการ” โดยมุ่งหวังที่จะยกระดับโซ่อุปทานสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ (วช.) จึงเห็นควรให้มีการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมโดยเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่หน่วยงานบริหาร และจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม หน่วยงานผู้ดำเนินงานวิจัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษา และหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ/ภาคเอกขน รวมถึงภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนดังกล่าวเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ (วช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิชัยพัฒนา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย จัดขึ้นเพื่อนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปยกระดับโซ่อุปทานสินค้าเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าให้เป็นโช่คุณค่าด้วยนวัตกรรมการเกษตรในมิติความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการกระบวนการผลิต การควบคุมชนิดและปริมาณผลผลิตที่สมดุลกับการตลาดรับซื้อ พัฒนารูปแบบนำร่องในการขยายผลระบบการจัดการองค์กรหรือวิสาหกิจชุมชนเชิงธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการรวมตัวกันขึ้นเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพและขยายโอกาสในการเข้าถึงตลาดสมัยใหม่ การเชื่อมโยงตลาดรับซื้อรูปแบบต่างๆ ที่สมดุลกับการผลิต การสร้างแบรนด์และราคาที่เป็นธรรม เพื่อยกระดับให้ชุมชนมีระดับรายได้ที่สูงขึ้น รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ และสุขภาพ พร้อมผลักดันให้เป็นต้นแบบในการขยายผลสู่พื้นที่อื่นภายในจังหวัดสมุทรปราการต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน