ข่าวใหม่อัพเดท » สถาบันวิจัยหริภุญชัยจังหวัดลำพูน ร่วมกับสมาคมเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จัดทำข้อตกลง(MOU) ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัยและอาหารปลอดภัยจังหวัดลำพูน

สถาบันวิจัยหริภุญชัยจังหวัดลำพูน ร่วมกับสมาคมเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จัดทำข้อตกลง(MOU) ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัยและอาหารปลอดภัยจังหวัดลำพูน

9 สิงหาคม 2023
0

สถาบันวิจัยหริภุญชัยจังหวัดลำพูนร่วมกับสมาคมเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จัดทำข้อตกลง(MOU) ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัยและอาหารปลอดภัยจังหวัดลำพูน

วันนี้ (8 ส.ค. 2566) เวลา 09.20 น. ที่ห้องประชุมโชควัฒนา เครือสหพัฒน์ อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนมอบหมายให้ นายโยธิน ประสงค์ความดี ปลัดจังหวัดลำพูนเป็นประธานและเป็นสักขีพยานในการประชุมและทำข้อตกลง (MOU) ที่จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยหริภุญชัยจังหวัดลำพูนและสมาคมเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน ระหว่างสมาคมเครือข่ายเกษตรกรรมจังหวัดลำพูน ศูนย์การเรียนรู้และกลุ่มเกษตร กรรม กับผู้ประกอบการ 4 ร. ได้แก่โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านอาหารและโรงงาน ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อตอกย้ำความร่วมมือในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัยและอาหารปลอดภัย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ เกษตรกร เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ปลัดจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดที่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม และมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวม 82,588 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ประชาชาติต่อหัว 209,668 บาท/คน/ปี สูงเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ และอันดับ 16 ของประเทศ แต่ในความเป็นจริงรายได้ส่วนใหญ่ยังไม่กระจายไปสู่ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดลำพูนที่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจากภาพรวมดังกล่าวทำให้รู้สึกได้ว่าประชากรภาคเกษตรกรรมยังมีปัญหาเรื่องรายได้และคุณภาพชีวิตอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องการผลิตอาหารและบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ดังนั้น เพื่อเป็นการรับมือกับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และเพื่อรองรับกระแสการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมที่จะเป็นแนวโน้มเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร สถาบันวิจัยหริภุญชัยและเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดลำพูนจึงมีความพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรมีทางเลือกโดยสนับสนุนการวิจัยและการปฏิบัติการทางเลือกในการผลิตการเกษตรในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ เกษตรปลอดภัยและเกษตรปลอดสารมาอย่างต่อเนื่อง จนก่อให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ของเกษตรกรในพื้นที่ 8 อำเภอ จำนวน 10 ศูนย์ และกลุ่มเกษตรกรรวมทั้งหมด 33 พื้นที่ ถือว่าเข้มแข็งและสนับสนุนข้อกำหนดตามธรรมนูญว่าด้วยความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย จังหวัดลำพูน ฉบับที่ 1 พ.ศ.2566 ให้ขับเคลื่อนอย่างมีพลังต่อไป

สำหรับการลงนามในครั้งนี้ มีกลุ่มที่ร่วมลงนามจำนวน 5 กลุ่มประกอบด้วย

กลุ่มที่1 กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ลุ่มน้ำลี้ อ.ลี้ อ.ทุ่งหัวช้าง กับห้างหุ้นส่วนจำกัดทองพูนฟูดส์ , กลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนบ้านวังไฮ ต.เวียงยอง อ.เมืองลำพูน กับสำนักกิจกรรมเพื่อสังคมเครือเบทาโกรและฝ่ายโรงฟักศูนย์ผลิตลูกไก่(ดอยติ)

กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนตำบลบ้านธิ (กลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนบ้านท่าตุ้ม-บ้านเตาปูน-บ้านแพะต้นยางงาม-ป่าปี้) ต.บ้านธิ อ.บ้านธิ กับ โรงพยาบาลบ้านธิ กลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนตำบลทาสบเส้า(บ้านทาสบเส้า-บ้านทาดงและศูนย์การเรียนรู้ทางสร้างสรรค์บ้านทาทุ่งยาว) ต.ทาสบเส้า อ.แม่ทา กับ โรงพยาบาลแม่ทา เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนอำเภอหนองล่อง (ศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเหล่าดู่ กลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนบ้านวังสะแกใต้) กับ โรงพยาบาลเวียงหนองล่อง

กลุ่มที่ 3 ประกอบด้วย ศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงบ้านต้นผึ้ง กับโรงเรียนบ้านต้นผึ้ง ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน ศูนย์เกษตรอินทรีย์ PGS สวนรักษ์ดินหอมกับโรงเรียนหนองช้างคืน ตำบลหนองช้างคืน อำเภอเมืองลำพูน และกลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนบ้านทาท้องฝายกับโรงเรียนบ้านเหมืองลึก ตำบลทาทุ่งหลวง อำเภอแม่ทา

กลุ่มที่ 4 ประกอบด้วย ศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงบ้านท่าตุ้มกับโรงเรียนวัดป่าสัก ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไร่อิงตะวันกับโรงเรียนบ้านหนองบัว ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านหนองยวงกับโรงเรียนบ้านหนองยวง ตำบลหนองยวง อำเภอเวียงหนองล่อง และ

กลุ่มที่ 5 ประกอบด้วย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แฟร์เทรดลำพูน อำเภอลี้กับโรงเรียนบ้านแม่ป้อก ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจาวสวนอินทรีย์ทุ่งหัวช้างกับโรงเรียนบ้านทุ่งหัวช้าง ตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง และศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงขวัญจันทร์ออร์แกนิกกับเทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง (โรงเรียนเทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง)


นที มีเดช

error: Content is protected !!