ข่าวใหม่อัพเดท » วช. หนุนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ภาคใต้ตอนล่าง ด้วยการวิจัยและพัฒนา การชักนำรากลอย ผลักดัน การผลิตทุเรียนคุณภาพสูงสู่การส่งออกอย่างยั่งยืน

วช. หนุนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ภาคใต้ตอนล่าง ด้วยการวิจัยและพัฒนา การชักนำรากลอย ผลักดัน การผลิตทุเรียนคุณภาพสูงสู่การส่งออกอย่างยั่งยืน

28 สิงหาคม 2023
0

วช. หนุนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ภาคใต้ตอนล่าง ด้วยการวิจัยและพัฒนา การชักนำรากลอยผลักดัน การผลิตทุเรียนคุณภาพสูงสู่การส่งออกอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) ได้มอบหมายให้กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลสำเร็จของงานวิจัยที่ (วช.) ให้การสนับสนุนทุนวิจัย โครงการ “การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ Smart Farmer (Developing Thai Farmer to Smart Farmer)” ที่มี รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย โดยได้ถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตทุเรียนคุณภาพสูง จากการวิจัยและพัฒนา การชักนำรากลอย (reborn root ecosystem) และนวัตกรรมการให้น้ำแบบที่ราบลุ่ม (basin fertigation; BF) ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่นำนวัตกรรม RRE โดยมีเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนในพื้นที่ นายเมธา กสินุรักษ์ และ นายพัลลภ เฉลิมพนาพันธุ์ ให้การต้อนรับ ณ จีนสวน คาเฟ่ทุเรียน อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ ผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมามีการผลิตทุเรียนในพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งไม่ได้พึ่งพาสารเคมีเกษตรทำไมมีผลผลิตที่ดีมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ประสบปัญหารากเน่าโคนเน่า ยอดทุเรียนแห้งเป็นก้านธูป ใบร่วงทั้งต้นและยืนต้นตายเหมือนในปัจจุบัน จากข้อสังเกตและปัญหาดังกล่าวนำไปสู่แนวทางการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาซ้ำซากในการผลิตทุเรียนของไทยที่ได้เริ่มนำเคมีเกษตรเข้ามาเพื่อเพิ่มผลผลิตที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ให้สามารถผลิตได้คุณภาพดีด้วยต้นทุนต่ำ ให้ใช้สารเคมีที่ถูกต้องเหมาะสมและไม่เข้าใจผิดในการพึ่งพาสารเคมีเกษตรมากเกินไปจนเป็นปัญหาต่อผู้บริโภค ของประเทศคู่ค้า อีกทั้งมีคุณภาพที่ดีเยี่ยมเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ให้สามารถแข่งขันและยืนเป็นหนึ่งในตลาดได้อย่างยั่งยืน เป็นโจทย์วิจัยที่ทางทีมวิจัยโครงการท้าทายไทย โครงการพัฒนาเกษตรไทยสู่ Smart farmer (กรณีศึกษา : การพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออก) ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยจาก (วช.) (ปีงบประมาณ 2562) ร่วมกับ รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล,รศ.ดร.ธนิท เรืองรุ่งขัยกุล, ผศ.ดร.เรวัตร ใจสุทธิ, ผศ.ดร.พฤกษ์ ชุติมานุกูล และ นายปิยพงษ์ สอนแก้ว พร้อมกับนักศึกษาปริญญาโท นายธนวัฒน์ โชติวรรณ ร่วมวิจัยในการพัฒนานวัตกรรมการผลิตทุเรียนคุณภาพสูง เพื่อตอบโจทย์และปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น จนได้นวัตกรรมการให้น้ำทุเรียนแบบ Basin Fertigation และนวัตกรรมการสร้างระบบนิเวศชักนำรากลอย (Reborn Root Biome) และได้ถ่ายทอด เทคโนโลยีสู่เกษตรกรในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่อำเภอเบตง มีต้นทุเรียนต้นเก่าแก่อายุหลายสิบปีและต้นที่ปลูกใหม่ หลายสวนที่ยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก เกษตรกรในพื้นที่ได้มาอบรมการผลิตคุณภาพสูง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้นำไปปฏิบัติได้ผลสำเร็จ สามารถฟื้นต้นทุเรียนจากรากเน่าโคนเน่า และต้นโทรม ทั้งต้นเล็กและต้นอายุหลายสิบปี ช่วยประหยัดปุ๋ย และสารเคมีเกษตร ได้อย่างมาก ทุเรียนไม่เป็นไส้ซึม มีคุณภาพที่ดี ได้ทุเรียนคุณภาพ (Prime Durian) จากต้นทุเรียนที่โทรมใบเล็ก ยอดทุเรียนแห้งเป็นก้านธูป บางแปลงมีโรครากเน่าโคนเน่า สามารถฟื้นต้นกลับมามีสุขภาพแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคและแมลงได้ด้วยตัวเอง ไม่กลับมาเป็นโรคซ้ำ กิ่งแต่ละกิ่งสามารถแตกยอดได้สามครั้งในหนึ่งปี จากระบบนิเวศของรากที่พึ่งพา (symbiosis) กับจุลินทรีย์ช่วยตรึงธาตุอาหาร เป็นผลให้สามารถลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเกษตรจากเดิมเหลือแค่ไม่เกินราคาฟางแห้งก้อนเดียว

พร้อมกันนี้ได้ปรับเปลี่ยนระบบการให้น้ำกับต้นทุเรียนจากเดิมที่ให้น้ำตอนกลางคืนมาเป็นแบบ Basin Fertigation โดยแบ่งการให้น้ำออกเป็นสามช่วงในแต่ละวัน ช่วงเช้าก่อน 08.00 น. ให้น้ำเต็มความสามารถอุ้มน้ำของดิน (full soil capacity) พืชสามารถดึงน้ำและธาตุหลักและธาตุรองเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงได้ โดยไม่เกิดแสดงการขาดธาตุที่จำเป็น ช่วงที่สองเวลา 11.00-12.00 น. เป็นเวลาที่ทุเรียนและไม้ผลทั่วไปที่ปลูกในแปลงแบบไม่ยกร่องสวน มักหยุดการสังเคราะห์แสงและเป็นช่วงที่น้ำในระบบน้ำใต้ดินและระบบน้ำในแถบลุ่มน้ำมีน้ำขึ้นน้ำลงสูงสุดในช่วงวัน จึงมีการให้น้ำช่วงนี้ตามน้ำขึ้นน้ำลงจากอิทธิพลของดวงจันทร์ เป็นช่วงที่ทำให้ทุเรียนสร้างกลิ่นหอมดอกไม้เฉพาะตัวออกมา ช่วงที่สามเวลา 13.00 น. และ 14.00 น. ช่วงนี้ในพื้นที่ปลูกแบบไม่ยกร่องสวนทุเรียนจะปิดปากใบเช่นกัน จึงทำการให้น้ำตามค่า vapor pressure deficit (VPD) ประมาณ 10-15 นาที จนทรงพุ่มมีค่า VPD ที่เหมาะสมและเริ่มสังเคราะห์แสง ต่อไปจนแสงสุดท้ายประมาณ 16.00 น. โดยภาพรวมทำให้ทุเรียนสามารถสังเคราะห์แสงได้นาน 6 – 8 ชั่วโมง (อาจแตกต่างกันไปตามพื้นที่) พบว่าทุเรียนหมอนทองที่อายุ 120 หลังผสมเกสรแล้ว (หางแย้) มีน้ำหนักแห้งของเนื้อ (DM) เฉลี่ยร้อยละ 34 และเมื่ออายุ 140 วัน มีค่า DM เฉลี่ยร้อยละ 37 ปกติเก็บเกี่ยวที่ 150-160 วัน เนื้อทุเรียนหมอนทองและพันธุ์อื่นๆ เนื้อแห้ง ไม่เป็นไส้ซึม เต่าเผา เนื้อที่เหนียวเนียนละเอียดเป็นครีมคล้ายชีทเค้ก เนื้อมีกลิ่นหอมดอกไม้เฉพาะตัว เส้นใยละลายน้ำได้ทั้งหมด เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก ถือได้ว่าเป็นผลสำเร็จจากงานวิจัยการผลิตทุเรียนคุณภาพสูงเป็นทุเรียนที่สร้างอัตลักษณ์เฉพาะของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย สู่การผลิตเพื่อการส่งออกได้อย่างแท้จริง

ด้านนายเมธา กสินุรักษ์ เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนจีนสวนคาเฟ่ทุเรียน เปิดเผยว่า ทุเรียนเบตงเป็นทุเรียนที่ไม่เหมือนที่อื่น โดยเฉพาะ ทุเรียนเบญจพรรณ และทุเรียนสายพันธุ์อื่นๆ งานวิจัยเข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องของการเพิ่มผลผลิตทุเรียน ซึ่งที่จีนสวน คาเฟ่ทุเรียนของเรานั้น เราตั้งใจจะให้เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ผลักดันให้แหล่งท่องเที่ยว และเป็นศูนย์กลางของตลาดกลางในการแลกเปลี่ยนทุเรียนสายพันธุ์ต่างๆ ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจเรื่องการปลูกทุเรียนสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 089-2989737

ขณะที่นายพัลลภ เฉลิมพนาพันธุ์ เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนในพื้นที่ อ.เบตง กล่าวว่า เดิมทีพิ้นที่แห่งนี้เป็นสวนยางเก่ามาก่อน แต่หลังจากที่ได้เข้ารับการอบรมกับโครงการวิจัยดังกล่าวทำให้เกิดความสนใจในการหันกลับมาปลูกทุเรียนในพื้นที่ของตนเอง โดยใช้วิธีแบบอินทรียวัตถุ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และใช้วิธีการชักนำรากลอยจากความรู้ที่ได้รับจากงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาโรครากและโคนเน่าในทุเรียนทำให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และผู้ที่สนใจวิธีการเริ่มต้นในการปลูกทุเรียนสามารถติดต่อได้ที่ 092-9854098


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!