ข่าวใหม่อัพเดท » เกษตรสุโขทัย เตือนเกษตรกร ระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง

เกษตรสุโขทัย เตือนเกษตรกร ระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง

31 สิงหาคม 2023
0

เกษตรจังหวัดสุโขทัย เตือนเกษตรกรระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง เนื่องจากพบการระบาดในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดพบการระบาดทั่วประเทศ 20 จังหวัด พื้นที่กว่า 60,000 ไร่ (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร) ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และอาจทำให้เกิดการขาดแคลนมันสำปะหลังในประเทศไทยส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง

จังหวัดสุโขทัยได้มีประกาศโดยคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการจังหวัดสุโขทัย ฉบับที่ 1/2566 เรื่อง การควบคุมการขนย้ายต้นพันธุ์ท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ห้ามมิให้ผู้ใด ขนย้ายต้นมันฯหรือท่อนพันธุ์มันสาปะหลัง เข้าหรือออกจากจังหวัดสุโขทัย ยกเว้นได้รับอนุญาตจากประธานคณะกรรมการฯต้องมีการขออนุญาตย้ายต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ เข้ามาหรือออกจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเพื่อเป็นการป้องกันหรือหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคไวรัสใบด่างมิให้กระจายไปในพื้นที่อื่น

นายวีระ บัวจันทร์ เกษตรจังหวัดสุโขทัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มันสำปะหลังที่เป็นโรค จะแสดงอาการใบด่างเหลือง ใบเสียรูปทรง ยอดที่แตกใหม่จะแสดงใบด่างอย่างรุนแรง ลำต้นแคระแกร็น ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสและพันธุ์มันสำปะหลัง การแพร่ระบาด จะแพร่กระจายผ่านทางทอนพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ และมีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหนะนำโรคมาสู่ต้นมันสำปะหลัง

การป้องกันกำจัด

  1. ห้ามนำเข้าท่อนพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ของมันสำปะหลัง และหัวมันสดจากประเทศที่มีรายงานพบการระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง
  2. สำรวจแปลงมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
  3. ใช้พันธุ์ที่ปลอดโรค หรือจากต้นพันธุ์มันสำปะหลังที่ไม่แสดงอาการของโรค
  4. หากพบต้นมันสำปะหลังแสดงอาการใบด่าง ให้ขุดหรือถอนต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลง และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร หรือ กรมวิชาการเกษตร ทันที
  5. ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อป้องกันกำจัดเชื้อโรคจากต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคตกค้างอยู่ในแปลง หลีกเลี่ยงการขนย้ายท่อนพันธุ์จากแหล่งที่มีโรคไปสู่แหล่งที่ยังไม่เคยมีการระบาด
  6. กำจัดหรือหลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของโรคใบด่างมันสำปะหลัง เช่น สบู่ดำ ละหุ่ง และพืชอาศัยของแมลงพาหะ เช่น กระเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง พริก มะเขือเปราะ มันฝรั่ง พืชตระกูลถั่ว
  7. กำจัดแมลงพาหะ เช่น แมลงหวี่ขาวยาสูบ

ในขณะนี้ ยังไม่พบรายงานการระบาดในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดสุโขทัย แต่ก็ต้องเฝ้าติดตามและระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง ด้วยในปีนี้ ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 4 บาท เกษตรกรหันมาปลูกกันมากขึ้น เนื้อที่ปลูกทั้งจังหวัดกว่า 49,000 ไร่ ปลูกมากที่อำเภอบ้านด่านลานหอย (เนื้อที่ปลูก 16,535 ไร่) รองลงมาเป็นอำเภอศรีสัชนาลัย (เนื้อที่ปลูก 9,046 ไร่) และอำเภอคีรีมาศ (เนื้อที่ปลูก 8,050 ไร่)

โดยที่ผ่านมาสำนักงานเกษตรจังหวัด และอำเภอได้มีการติดตามเฝ้าระวัง ตรวจสอบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังทุกอำเภอที่มีการปลูกมันสำปะหลัง พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำแก่เกษตรกร ผู้นำชุมชน ในการเฝ้าระวังการระบาด รวมถึงกำชับมิให้มีการนำเข้าท่อนพันธุ์ ต้นพันธุ์มันสำปะหลังจากต่างจังหวัดเข้ามาในพื้นที่


พงศ์เทพ สาคร สุโขทัย

error: Content is protected !!