ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 9/2562 ร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภายหลังการประชุม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณะ ได้แถลงผลการประชุม โดย กพอ. ได้พิจารณาและรับทราบความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
1. การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC – OSS
กพอ. เห็นชอบระบบการใช้บริการเบ็ดเสร็จ EEC – OSS โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางบริการรับคำขออนุมัติ อนุญาต และประสานหน่วยงานเจ้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง 8 ฉบับกำหนดในมาตรา 43 ของ พ.ร.บ. EEC จาก 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอนามัย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมที่ดิน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งบริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC – OSS ภายหลังปรับปรุงแล้ว จะลดเวลาและขั้นตอนได้ถึง 50% โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการเพียง 78 วัน จากเดิม 158 วัน ใช้เอกสารประกอบเพียง 42 รายการ จากเดิม 60 รายการ โดยมีหลักการ ดังนี้
1) ลดระยะเวลาขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่ การพิจารณาเอกสาร การลงพื้นที่และการลงนาม
2) การยกเลิกขั้นตอนบางขั้นตอนในการพิจารณาเอกสาร และยุบรวมใบอนุญาตที่คล้ายคลึงกัน
3) ร่วมกับหน่วยงานรัฐ ในการเชื่อมโยงข้อมูล อำนวยความสะดวกในการกรอกคำร้อง และลดเอกสารที่ต้องใช้ในการขอใบอนุญาต สำหรับการใช้บริการ ผู้ประกอบการสามารถผ่านช่องทาง www.eeco.or.th /eec-oss หรือจะเข้าใช้งานผ่านระบบ EEC – OSS โดยตรงก็ได้ และสามารถใช้บริการได้ทุกสถานที่ ที่มีอินเทอร์เน็ตให้บริการ
2. แนวทางการพัฒนาบุคลากรใน EEC
สกพอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนสู่การพัฒนาบุคลากรและการศึกษายุคใหม่ เพื่อนำไปสู่การตอบสนอง “งานที่ต้องการบุคลากรและการพัฒนาประเทศ” ตามหลัก demand driven อย่างแท้จริง โดยมีข้อเสนอปรับโครงสร้างการจัดการการศึกษา การเรียนรู้จากด้าน “อุปทาน” สู่ “อุปสงค์” เพื่อตอบโจทย์การมีงานทำมีรายได้ดี ซึ่งกำหนดแนวทางการผลิตกำลังคนคุณภาพเพื่อตอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3 แนวทาง
• New Skill : ปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอน ครูผู้สอน และใช้เครื่องมือในการสอนตรงตามความต้องการใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษาและคนรุ่นใหม่
• Up Skill : เพิ่มทักษะให้บุคลากรในอาชีพให้ก้าวทันเทคโนโลยี สอนตรงตามความต้องการใช้งานจริง
• Re Skill : อบรมหลักสูตรระยะสั้น 6 – 12 เดือน เพื่อพัฒนากลุ่มคนที่ทำงานไม่ตรงสาขาที่จบ หรือขาดประสบการณ์ตรง หรือคนตกงาน
สกพอ. ได้ประมาณการความต้องการบุคลากรใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 475,000 ตำแหน่ง ใน 5 ปี ในขณะที่ BOI แจ้งความต้องการ 16,567 ตำแหน่งของผู้ลงทุนที่ขอเข้ามาลงทุนในปีที่ผ่านมา ระยะเร่งด่วน 20,000 คนในปี งบประมาณ 2563
โดยมีแนวทางการดำเนินการ อาทิ จัดทำหลักสูตรระยะสั้น บูรณาการร่วมกับ 4 กระทรวง กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ร่วมมือเอกชน อุปกรณ์ ครูผู้สอน สถานที่ฝึกงาน งบประมาณ 400 ล้านบาท (ภาครัฐ 200 ล้านบาท ภาคเอกชน 200 ล้านบาท) และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคคลากรในอีอีซี (ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เป็นประธาน) เป็นกลไกในการดำเนินงาน
3. (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่าด้วยกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …
จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2562 ซึ่งได้รับทราบ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่าด้วยกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. ตามที่ สกพอ. เสนอ และให้แก้ไขปรับปรุงการออกร่างระเบียบฯ ดังกล่าว ตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา (สคก.) และรับความเห็นจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้ สกพอ. จะได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) ระเบียบฯ ดังกล่าว ตามความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ
สำหรับ เงินกองทุน ให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ดังต่อไปนี้
(1) เพื่อการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน รวมตลอดทั้งช่วยเหลือ หรือเยียวยาประชาชนและชุมชนบรรดาที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
(2) สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาและให้ทุนการศึกษาแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือที่อยู่ใกล้เคียงและได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
(3) ค่าใช้จ่ายอื่นที่จะส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
(4) ค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน
การใช้จ่ายเงินกองทุนตาม (1) และ (2) ให้คำนึงถึงความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นด้วย
ทั้งนี้ การบริหารกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีคณะกรรมการบริหาร จำนวน 8 คน ประกอบด้วย เลขาธิการ หรือผู้ที่เลขาธิการมอบหมาย เป็นประธานฯ ผู้แทนสำนักงบประมาณเป็นกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลังเป็นกรรมการ ผู้แทน สกพอ. เป็นกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ไม่เกิน 3 คน) และผู้บริหารกองทุน เป็นกรรมการ และเลขานุการ
4. แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ….
กพอ. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 สค. 2562 ในการประชุม ฯ ครั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) ได้จัดทำรายการประกอบแผนผังท้าย (ร่าง) ประกาศ 5 รายการ ได้แก่
(1) รายการประกอบแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
(2) รายการประกอบแผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ
(3) รายการประกอบแผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง
(4) รายการประกอบแผนผังระบบบริหารจัดการน้ำ
(5) รายการประกอบแผนผังระบบป้องกันอุบัติภัย
อย่างก็ตาม การจัดทำแผนผัง EEC นอกจากจะมีการรับฟังความเห็นจากผู้นำในจังหวัด ผู้แทนในระดับจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่นและชุมชน กลุ่มเฉพาะต่าง ๆ จำนวน 40 ครั้ง โดยประชุมแบบทางการ 25 ครั้งและไม่เป็นทางการ 15 ครั้ง ซึ่ง สกพอ. และ ยผ. ได้ร่วมกันชี้แจง ทำความเข้าใจ กับกลุ่มเครือข่ายเพื่อนตะวันออกฯ ดังนี้
1) ทำหนังสือชี้แจง ระหว่างเดือน ก.ค. 62 – 26 ส.ค. 62 สกพอ. ร่วมกับ ยผ. ได้มีหนังสือตอบชี้แจงประเด็นข้อร้องเรียนทั้งหมด 8 ประเด็น รวม 8 ครั้ง
2) การร่วมประชุมหารือเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 62 ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สรุปผลการประชุมดังนี้
(1) ผู้แทน สกพอ. และ ยผ. ได้ตอบประเด็นข้อร้องเรียน 8 ข้อเดิมอีกครั้งหนึ่ง (2) กลุ่มเครือข่ายฯ ได้ขอแก้ไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพิ่มอีก 4 ข้อ ซึ่ง ผู้แทน ยผ. ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวครบทุกประเด็น (3) ผู้เข้าร่วมประชุมท่านอื่น มีความเห็นว่า หลักเกณฑ์การตั้งนิคมและโรงงานอุตสาหกรรมมีความเข้มงวดมาก มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ และเมื่อพิจารณาแผนผัง EEC แล้ว เห็นว่ามีการดำเนินงานอย่างมีระบบ มีการกำหนด zoning ชัดเจน จึงเชิญกลุ่มเครือข่ายร่วมกำกับดูแลเฝ้าระวังการบังคับใช้แผนผัง EEC จะดีกว่า นอกจากนี้ กำนันตำบลเขาดิน มีความเห็นว่า ปัจจุบันที่ดินเสื่อมโทรมลง การประมงไม่ได้ผลผลิตคุณภาพ การมีอุตสาหกรรมในพื้นที่ จะสร้างรายได้และการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และอุตสาหกรรมที่จะมาตั้งในพื้นที่ ก็เป็นอุตสาหกรรมสะอาดที่อยู่ร่วมกับชุมชนได้ (4) กลุ่มเครือข่ายเพื่อนตะวันออก ยังคงมีความเห็นเดิมคือ ขอให้ทบทวนมติ กพอ. ที่ได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 62 ได้มีกลุ่มชาวบ้านตำบลเขาดิน อำเภอปางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี มากกว่า 60 คน เดินทางมายื่นหนังสือนำเรียนนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้เดินหน้าโครงการ EEC และขอให้เร่งรัดประกาศใช้แผนผัง EEC โดยเร็ว เนื่องจากเป็นความต้องการของคนในพื้นที่ที่แท้จริง โดยในการเรียกร้องให้เดินหน้าโครงการ EEC ครั้งนี้ ได้มีประชาชนในพื้นที่ร่วมลงชื่อจำนวนมากกว่า 500 คน
โดยที่ประชุม กพอ. เห็นชอบรายการประกอบแผนผังท้าย (ร่าง) ประกาศ กพอ. เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. ตามที่เสนอ และ มอบหมาย สกพอ. นำเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติ ต่อไป
5. ความก้าวหน้าโครงการ EEC Project List ที่สำคัญ ๆ
1) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3
สัญญาร่วมทุนผ่าน ครม. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะเสนอขอขยายเขตนิคมอุตสาหกรรมเข้า ครม. ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยเอกชนพร้อมลงนาม
2) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก
ศาลปกครองเห็นตาม คณะกรรมการคัดเลือก และ มติอุทธรณ์ของ กพอ. ไม่รับเอกสาร 2 กล่อง (กล่องข้อเสนอแผนธุรกิจ และกล่องข้อเสนอผลตอบแทนทางการเงิน) ของกลุ่มกิจการร่วมค้าธนโฮลดิ้ง ซึ่งบริษัทฯ ได้ไปยื่นคำร้องกับศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการต่อโดยกำหนดพิจารณาเอกสารทางเทคนิคให้จบภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 และเปิดซองการเงิน เพื่อหาผู้เข้าเจรจาสัญญา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2562
3) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
กพอ. รับทราบการวางกำหนดการส่งมอบที่ดินให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คือส่งมอบที่ดิน 72% ภายใน 1 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการและเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการรื้อย้ายท่อก๊าซยาว 12 กม. ยกเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง 16 จุด กระทรวงมหาดไทย เร่งรัด ย้ายท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 จุด ย้ายเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงยาว 14 กม. ยกเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง 39 จุด ย้ายท่อประปาขนาดใหญ่ยาว 2 กม. และกระทรวงคมนาคม โดย รฟท. ใช้สิทธิ์เร่งรัดให้ย้ายท่อน้ำมันของบริษัทเอกชน ระยะทาง 44 กม. รวมทั้ง เร่งรัด พรฎ. เวนคืนที่ดิน พ.ศ. …. ซึ่งจะทำให้การส่งมอบพื้นที่โครงการเป็นไปตามแผนงาน และโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ตามเป้าหมาย
โดยในเรื่องนี้ เลขาธิการ กพอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่ได้เป็นห่วงเรื่องพื้นที่ของ รฟท. ที่จะส่งมอบ เพราะสามารถส่งมอบได้ แต่มีพื้นที่บางส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น เช่น มีท่อก๊าซที่ต้องรื้อย้ายออกจากพื้นที่ซึ่งเป็นของของกระทรวงพลังงาน มีเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง และมีท่อระบายน้ำของ กทม. เหล่านี้เป็นส่วนที่ รฟท. เป็นห่วง เพราะต้องไปประสานงานกับหน่วยงานและต้องใช้เวลาดำเนินการ ซึ่งที่ประชุม กพอ. วันนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาจัดทำแผนกับ รฟท. ให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ โดยให้กำหนดวันแล้วเสร็จ กำหนดวิธีการดำเนินการ และงบประมาณที่ต้องใช้ เพื่อเร่งรัดดำเนินการเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จเร็วที่สุดก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 62 ซึ่งเป็นวันที่กำหนดลงนามสัญญา รวมทั้งจะได้หารือกับภาคเอกชนถึงการทำงานในเรื่องนี้ด้วย
4) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F
ศาลปกครอง มีมติให้ คำพิพากษา
(1) ให้ถอนฟ้องคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ให้กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ไม่ผ่านการประเมินในซองที่ 2
(2) ให้การเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่ คณะกรรมการคัดเลือก ฯ มีคำสั่ง และให้มีผลต่อไป จนกว่า มีคำพิพากษาของศาล ถึงที่สุด
(3) ให้ยกฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กพอ.) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฯ)
( 4) คณะกรรมการคัดเลือก ฯ จะเร่งดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนปิดการประชุมว่า รัฐบาลกำลังเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกคน ตั้งใจทำงานเต็มที่ ขอขอบคุณทุกคนที่อยู่ในห้องประชุมวันนี้ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนที่ไม่ได้อยู่ที่นี่ ขอให้ทุกคนร่วมกันทำงานให้ดีที่สุด เพราะประชาชนอยากเห็นประเทศเจริญก้าวหน้า
ขอบคุณข้อมูล : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการ กพอ.)