ครอบครัว อีซอมูซอกับทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และตัวแทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยื่นคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสภ.หนองจิก จ.ปัตตานี ให้สอบสวนดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีอาญา กรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่บาดเจ็บสาหัสในค่ายทหารและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เวลา 10.00 น. นางสาวซูไมยะห์ มิงกะ ภริยาของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ และนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความประจำมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรหนองจิก จังหวัดปัตตานี ต่อการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะฯ ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 โดยที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ออกหนังสือรับรองการเสียชีวิต ระบุว่าเสียชีวิตจากภาวะสมองขาดออกซิเจนและขาดเลือด
ทั้งนี้ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกควบคุมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 โดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 ภายใต้อำนาจตามกฎอัยการศึกไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 03.00 นาฬิกา ของวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 ถูกพบว่าหมดสติอยู่ในหน่วยซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร เจ้าหน้าที่ประจำค่ายจึงนำนายอับดุลเลาะฯ เข้ารับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จากนั้นได้ส่งไปรักษาตัวต่อ ณ อาคารผู้ป่วยวิกฤติ(ICU) โรงพยาบาลปัตตานี ต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ถูกส่งตัวไปรักษาต่อ ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และได้รับการักษาอย่างต่อเนื่อง โดยแพทย์ระบุว่าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ ผลเอ็กซเรย์สมองพบว่าสมองบวม มีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ยังคงใส่เครื่องช่วยหายใจ มีสภาวะไตวายเฉียบพลันและจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดในหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤติทางอายุรกรรมเป็นเวลากว่า 30 วันและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา
กรณีดังกล่าวเป็นคดีที่มีความสำคัญต่อการสร้างให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการควบคุมตัวบุคคลตามอำนาจกฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ การสืบสวนสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฎว่า ก่อนการถูกควบคุมตัวนายอับดุลเลาะห์ฯไปนั้นนายอับดุลเลาะห์มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว สมาชิกในครอบครัวและสังคมต้องได้รับคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับนายอับดุลเลาะห์ ระหว่างถูกควบคุมตัวภายในศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร และหากเป็นการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญา พนักงานสอบสวนจึงมีหน้าที่ติดตาม และหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
โดยคดีนี้ทนายความศูนย์ทนายความมุสลิมและทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือคดีเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนายอับดุลเลาะห์และญาติต่อไปให้ถึงที่สุดทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ในระดับนโยบายและกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนใต้
นอกจากนี้ ในวันที่ 5 ตุลาคม 2562 ทางญาติจะจัดงานครบรอบ 40 วันอันเป็นประเพณีทางศาสนาอิสลามให้แก่นายอับดุลเลาะห์ที่บ้านในพื้นที่ตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี และในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 จะมีการเดินทางมายื่นหนังสือให้คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของสภาผู้แทนราษฎรด้วย
ขอบคุณข้อมูล : mtoday