เลขาธิการ กช. มอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและข้อสั่งการของ รมว.ศธ.
เช้าวันที่ 16 ตุลาคม 2566 : นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เป็นประธานในการประชุมมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และข้อสั่งการของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) โดยมีนายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด (ปส.กช.) พร้อมด้วย ประธาน ปส.กช. จังหวัดทั่วประเทศ เครือข่ายสมาคมการศึกษาเอกชนและผู้บริหารโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ จำนวนกว่า 120 คน เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในระบบ Zoom Cloud Meeting จากห้องทำงานเลขาธิการ กช. ชั้น 2 อาคารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ กล่าวว่า การประชุมมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และข้อสั่งการของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ดังนี้
- นโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ปรับวิธีการประเมินวิทยะฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอน มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน โดยส่งเสริมการประเมินสมรรถนะที่เทียบเท่าวิทยะฐานะ และการขอมีใบประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง และนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมิน โดยบูรณาการการใช้งานระบบร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รวมถึงการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาครูในลักษณะ E-Learning ผ่าน Digital Platform
- นโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง พัฒนาการศึกษาผ่านระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) และจัดทำระบบเทียบเคียงหรือเทียบโอนผลการเรียน ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ หรือสมรรถนะ ของโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ
- พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้เชิงสมรรถนะ การพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนนอกระบบประเภทวิชาชีพ ให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพและระบบคุณวุฒิวิชาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และเทียบโอนผลการเรียน ทักษะ ความรู้ได้ การป้องกันยาเสพติดและความปลอดภัยในสถานศึกษา
- เสริมสร้างทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นให้กับผู้เรียน โดยการส่งเสริมทักษะอาชีพ และการสร้าง Soft Power ให้กับผู้เรียน รวมถึงการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพและความถนัด ยกตัวอย่างเช่น ทักษะวิชาการ ค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการ ทักษะภาษาจีน ทักษะด้านกีฬา การพัฒนาและแสดงศักยภาพตามความถนัด เป็นต้น
- จัดให้มีระบบแนะแนวทางสำหรับผู้เรียน (Coaching) และจัดระบบวัดแววและความถนัดของผู้เรียนเป็นรายบุคคล (ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ตามพหุปัญญาของผู้เรียน
- เน้นนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ STEM Education (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยการพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบ STEM Education และการพัฒนาการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติจริง และเสริมความสามารถด้าน Soft Skill ควบคูกับการพัฒนา เช่น Active Learning / Project-Based Learning / Problem-Based Learning
- ประสานความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาสุขภาพจิตของผู้เรียน เพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนให้สามารถอยู่ในสถานศึกษาได้อย่างมีความสุข โดยการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพจิตผู้เรียน ร่วมกับกรมสุขภาพจิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการคัดกรอง และส่งเสริมการใช้จิตวิทยาเชิงบวก การดูแลผู้เรียน
- ปฏิรูปการศึกษาฯ (นโยบายการศึกษาที่แถลงต่อรัฐสภา (เฉพาะประเด็นที่เพิ่มเติม) โดยจัดทำร่าง พ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน พ.ศ. … เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายการศึกษาของชาติ และรองรับพลวัตการจัดการศึกษาในปัจจุบัน
- การศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศ และการปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ และ
- แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญ ของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ส่งเสริมการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียนเอกชนในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีให้มีคุณภาพ
นอกจากนี้ นายมณฑลฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยังมีประเด็นนโยบายที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การเตรียมการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติอุทกภัย และแนวทางการรายงานสถานการณ์อุทกภัยของโรงเรียนเอกชน โดยขอให้ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ชี้แจงแนวทางการจัดสรรงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับจัดประชุม คณะกรรมการ ปส.กช.จังหวัด และการพัฒนาครูตามบริบทของพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 การจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติเนื่องในโอกาสต่างๆ และขอให้สถานศึกษาเอกชนร่วมจัดกิจกรรม พร้อมทั้งเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์กิจกรรมดัวกล่าวสู่สาธารณชนด้วย
“สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นี้ ก็จะพยายามสื่อสารกับชาวการศึกษาเอกชนให้ต่อเนื่องและทั่วถึง การจะทำให้โรงเรียนเอกชนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ทำให้โลกได้ประจักษ์ว่าโรงเรียนเอกชนนั้น เป็นหนึ่งในโรงเรียนคุณภาพที่ดีที่สุดของประเทศ แค่เพียง สช. อาจจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ห่กแต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทั้ง ปส.กช. และเครือข่ายการศึกษาเอกชนจากทั่วทั้งประเทศ ในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาเอกชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติต่อไป” เลขาธิการ กช. กล่าวทิ้งท้าย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน