ข่าวใหม่อัพเดท » ย้อนรอยประวัติศาสตร์มีชีวิต กับวิถีอัสลีบ้านนากอ – อัยเยอร์เวง

ย้อนรอยประวัติศาสตร์มีชีวิต กับวิถีอัสลีบ้านนากอ – อัยเยอร์เวง

6 ตุลาคม 2019
0

 หากใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวชุมชนอัยเยอร์เวง – เบตง นอกจากความประทับใจในสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย อาหารการกินสารพัดรสอร่อย และอัธยาศัยอันดีของผู้คนที่นั่นแล้ว อีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสำหรับผู้ชมชอบเรื่องราวทางมานุษยวิทยา คือ การไปสัมผัสวิถีชีวิตกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “โอรังอัสลี” หรือคนพื้นเมืองดั้งเดิม

          ทำไมถึงเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า “ประวัติศาสตร์มีชีวิต” นั่นเพราะหากย้อนรอยทางกลับไปในอดีต มีหลักฐานการอยู่อาศัยของชนพื้นเมืองในพื้นที่มาตั้งแต่ 3,000 ปีที่ผ่านมา เรียกโดยรวมว่า โอรังอัสลี (Orang Asli) ได้แก่ กลุ่มนิกริโต (Nigrito) เช่น เซมัง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มซีนอย (Senoi) เผ่ามองโกลอยด์ใต้ ได้แก่ บรรพบุรุษชาวสยามและชาวมลายู อยู่อาศัยมานานนับพันปีเช่นกัน หลักฐานภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำศิลป์ จังหวัดยะลา และเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ขวานหิน ซึ่งพบหลายแห่งตามถ้ำและที่ราบทั่วไป อธิบายเรื่องราวความเป็นมาของผู้คนเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

           ปัจจุบัน วิถีของชาวโอรังอัสลี หรือ คนพื้นเมืองดั้งเดิม ปรากฏอยู่ในผืนป่าฮาลา-บาลา คือกลุ่มชนซึ่งเคยอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเบตง อำเภอธารโต บันนังสตา และยะหา จังหวัดยะลา รวมถึงบางอำเภอของจังหวัดนราธิวาส และรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย ใช้ชีวิตอยู่ในป่าเขาเป็นกลุ่มไม่ใหญ่มาก ขนาดประมาณ 10-30 คน ไม่มีการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์ หาของป่าตามฤดูกาล ที่อยู่อาศัยสร้างเป็นเพิงชั่วคราวมุงด้วยใบตองหรือเรียกกันว่า “ทับ” ปกติจะไม่นุ่งห่มเสื้อผ้า ปิดอวัยวะพึงสงวนด้วยใบไม้ แต่ภายหลังรู้จักใส่ผ้าปกปิดร่างกายเช่นผู้คนสมัยใหม่

           เรื่องราวของ “โอรังอัสลี” พื้นที่ปลายแหลมมลายู ปรากฏอยู่ในเอกสาร บันทึกทางประวัติศาสตร์ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวเบตงแล้ว มีภาพถ่ายขาว-ดำ ที่กลายเป็นภาพจำและถือเป็นหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์ที่ได้มีการบันทึกไว้ในสวนยางแห่งหนึ่งของเบตงยุคบุกเบิกปี พ.ศ.2497 เรื่องราวในภาพคือหลักฐานชิ้นสำคัญสะท้อนและบอกเล่าถึงรอยต่อความเป็นมาเป็นไปทางประวัติศาสตร์ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเบตง หรือในพื้นที่คาบสมุทรมลายู นับตั้งแต่อดีตตราบกระทั่งปัจจุบัน

          ข้อมูลล่าสุดจาก อบต.อัยเยอร์เวง พบว่า ชาวโอรังอัสลีในพื้นที่ป่าฮาลา-บาลา อำเภอเบตง ทุกวันนี้กลุ่มใหญ่สามารถไปสัมผัสได้ที่บ้านนากอซึ่งอาศัยในที่ตั้งนานเวลามากขึ้น ถึงแม้จะยังคงยึดวิถีของการเคลื่อนย้ายเป็นวงรอบตามวิถีเดิม ๆ ส่วนกลุ่มที่เหลือก็อาศัยอยู่ในผืนป่าฮาลา-บาลา เช่นกัน และเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ ไม่เป็นหลักแหล่งแน่นอน แต่โดยรวมแล้วชาวโอรังอัสลีที่ยังคงดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่ในพื้นที่อำเภอเบตง เขตป่าฮาลา-บาลา พื้นที่รอยต่อไทย-มาเลเซีย มีอยู่จำนวนประมาณ 100 กว่าชีวิต

          นายซูไฮมี มีนา พัฒนาชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง (อบต.อัยเยอร์เวง) อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ผู้ประสานงานและได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากชาวโอรังอัสลีมายาวนาน บอกเล่าว่า “เท่าที่มีการสำรวจเวลานี้พบชาวโอรังอัสลีอยู่ 5 กลุ่ม”

          ชาวโอรังอัสลีทั้ง 5 กลุ่มซึ่งอยู่กระจายในพื้นที่แถบผืนป่าฮาลา – บาลา สร้าง “ทับ” หรือที่อยู่อาศัยอยู่ที่ชุมชนบ้านนากอ หมู่ 9 ตำบลอัยเยอร์เวง รวมแล้วประมาณ 50 คน ตอนนี้ปักหลักอยู่อาศัยอย่างค่อนข้างถาวรมากขึ้นด้วยเหตุผลหลายอย่าง มีการปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านชาวเมืองมากขึ้น มีการรับจ้างตัดหรือโยงกิ่งทุเรียน แต่ยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ถึงเวลาย้ายก็ย้าย แต่ไปไม่นานจะกลับมาอยู่ที่เดิม

          ล่าสุด ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดทำฐานข้อมูล ทำบัตรให้สิทธิเป็นบัตรพิเศษที่ออกให้เพื่อให้ความช่วยเหลือ เริ่มที่บ้านนากอนก่อน จากนั้นจึงขยายสู่กลุ่มอื่นที่สนใจ ที่สำคัญ ศอ.บต. มีแผนจะทำเป็นแหล่งเรียนรู้ที่บ่อน้ำร้อนนากอในลักษณะ “พิพิธภัณฑ์ชนเผ่า” เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาอัสลี ให้ผู้สนใจทำความรู้จักข้อมูล ปรับความเข้าใจชาวเมืองก่อนให้เขาวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้

          กลุ่มคนที่ยังคงวิถีชีวิตชาวพื้นเมืองดั้งเดิมเช่นอดีต ใช้ชีวิตอยู่ในป่าเขา ดำรงวิถีความเชื่อเป็นเอกลักษณ์ชัดเจน ขณะเดียวกันด้วยปัจจัยแวดล้อมที่แปรเปลี่ยน ส่งผลให้คนเหล่านี้ต้องพยายามปรับตัวเองเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ผู้มาก่อน และเรายังคงสามารถไปสัมผัสเรียนรู้วิถีชนเหล่านี้ได้อย่างเคารพ ให้เกียรติ ผ่านการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ขอบคุณข้อมูล : ศปชส.ฯ

สำนักข่าวความมั่นคง

error: Content is protected !!