คุณอริยวัตน์ ฉิมประดิษฐ์ ผู้สืบทอดการทำเทริดมโนราห์เล่าให้ฟังว่ามโนราห์มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นโดยเฉพาะการแต่งกายของผู้แสดง ที่ต้องมีการประดับสวยงามทั้งตัว ประกอบด้วย เครื่องสิราพร กว่า 20 ชิ้น ที่สำคัญ คือเทริด ซึ่งเป็นเครื่องสวมศรีษะ ของโนราห์ มีลักษณะเป็นมงกุฎอย่างเตี้ย มีกรอบหน้า มีด้ายมงคลประกอบ ซึ่งเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่สถิตของครูโนราห์ โดยที่ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลา เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงสืบสานวัฒนธรรมนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น สำหรับความคิดที่จะทำเทริดนั้นคุณอริยวัฒน์บอกว่าเกิดจากการแสดงมโนราห์แต่ละครั้งผู้แสดงมีเทริดสวมใส่ไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงใช้ความรู้ประสบการณ์ และแนวทางที่ถูกต้องในการทำ ด้วยการนำวัสดุที่มีในท้องถิ่นมาประดิษฐ์จนกลายเป็นเทริดที่สวยงาม
คุณอริยวัฒน์ยังบอกอีกว่าได้ฝึกหัดเรียนรู้การทำเทริดมาตั้งแต่เด็กๆพบว่าเทริดเป็นสิ่งที่สวยงาม และเป็นของชั้นสูงที่มโนราห์ทุกคณะ ลูกหลานที่มีเชื้อสายมโนราห์ ให้ความนับถือ วางเก็บไว้เหนือหัว บนที่สูง ส่วนเรื่องการเรียนรู้การทำเทริด การขึ้นลายกนก การผสมแป้ง การขึ้นโครง ได้เรียนรู้เพิ่มเติมจาก มหาวิทยาลัยทักษิณสงขลา แล้วนำมาปรับปรุงเป็นเทริด ที่สมบูรณ์ สวยงาม ตามความคิดความเชื่อจน สามารถใช้ในพิธีและใส่รำมโนราห์ได้
สำหรับเทริด ที่ผ่านการทำพิธีบูชาครูมโนราห์แล้ว ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในพิธีผูกผ้าใหญ่ หรือแต่งพอกซึ่งหมายถึงการแต่งกายเพิ่มเติมหรือ “พอก” เพิ่มจากเครื่องแต่งกายโนราธรรมดา เพื่อทำพิธียอมรับการเป็นศิลปินโนราคนใหม่ หรือพิธีมโนราห์โรงครู โดยมีการจัดวางเทริดไว้บนปะรำพิธีด้านบน และยกเทริดเพื่อครอบให้กับมโนราห์ที่ฝึกรำ ทั้งนี้องค์ประกอบต่างๆ ของเทริดต้องครบถ้วน ลวดลายประณีต สวยงาม ถูกต้องตามแบบของเทริดมโนราห์
ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มเป็นชมรมการแสดงศิลปะการแสดงพื้นพื้นบ้านมโนราห์จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเยาวชน ผู้ที่สนใจ สืบสานการทำเทริดและการรำมโนราห์มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีเวทีรองรับการแสดง ทั้งในจังหวัดยะลาและพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอาชีพที่สร้างรายได้จากภูมิปัญญาดั้งเดิม รวมทั้งได้ถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างเป็นกระบวนการ สามารถสืบสานอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ทัดเทียมกับศิลปะการแสดงแขนงอื่นๆ ต่อไป
ขอบคุณข้อมูล : ปัตตานีบ้านฉัน