ข่าวใหม่อัพเดท » DSI จับกุมผู้บริหาร ดูทีวี มีเดีย ละเมิดลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์ของช่อง7 จำนวน 592 รายการ มูลค่าความเสียหาย 2,809,255,221 บาท

DSI จับกุมผู้บริหาร ดูทีวี มีเดีย ละเมิดลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์ของช่อง7 จำนวน 592 รายการ มูลค่าความเสียหาย 2,809,255,221 บาท

27 ตุลาคม 2023
0

DSI จับกุมผู้บริหาร ดูทีวี มีเดีย ละเมิดลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์ของช่อง 7 จำนวน 592 รายการ มูลค่าความเสียหาย 2,809,255,221 บาท

กรมสอบสวนคดีพิเศษได้สืบสวนสอบสวนกรณีบริษัท ดูทีวี มีเดีย จำกัด กับพวก ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์และงานแพร่เสียงแพร่ภาพของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง7 โดยการทำซ้ำ ตัดต่อ และนำข้อมูลในรูปแบบรายการโทรทัศน์ที่แพร่เสียงแพร่ภาพผ่านทางช่อง 7 สี อาทิเช่น รายการละคร, รายการข่าว, รายการวาไรตี้, รายการซีรีส์, รายการภาพยนตร์ต่างประเทศ และรายการพิเศษต่างๆ ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด และละเมิดเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเป็นเครื่องหมายบริการ เพื่อนำไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ดูทีวีดอทคอม (www.dootv.com) และเว็บไซต์ไทยฟลิกซ์ดอทคอม (www.thaiflix.com) โดยไม่ได้รับอนุญาต มีการเรียกเก็บค่าสมาชิกจากลูกค้า ซึ่งเป็นผู้ชมที่อยู่ในต่างประเทศผ่านบัญชี Paypal ในอัตรา 14 เหรียญสหรัฐ ต่อ 30 วัน เป็นต้น

ทั้งยังมีการตั้งสำนักงานหลายแห่งทั้งในประเทศไทย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าว รวมจำนวนรายการละคร ฯลฯ ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ฯ มีจำนวนทั้งหมด 592 รายการ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 2,809,255,221 บาท (สองพันแปดร้อยเก้าล้านสองแสนห้าหมื่นห้าพันสองร้อยยี่สิบเอ็ดบาท) เป็นคดีพิเศษที่ 58/2560 เหตุเกิดขึ้นในช่วงประมาณเดือนมีนาคม 2558 ถึงประมาณเดือนสิงหาคม 2561

โดยเมื่อวันอังคารที่ 24 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบ สวนคดีพิเศษ ได้จับกุมผู้บริหารของบริษัท ดูทีวี มีเดีย จำกัด จำนวน 2 ราย ส่งพนักงานสอบ สวนคดีพิเศษ กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

คดีพิเศษที่ 58/2560 เป็นคดีแรกของทางกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีการสืบสวนสอบสวนการละเมิดลิขสิทธิ์บนระบบคลาวด์ (Cloud) โดยกลุ่มผู้ต้องหาเป็นโปรแกรมเมอร์ที่มีความรู้ความสามารถสูง มีการจัดเก็บข้อมูลรายการโทรทัศน์ของผู้เสียหายไปยังเครื่องแม่ข่าย (Server) ที่อยู่ใน สหราชอาณาจักร โดยมีการปิดกั้นการเข้าถึงหรือการรับชมจากประเทศไทย มีการสับเปลี่ยนเว็บไซต์และพัฒนาเว็บไซต์ใหม่ๆขึ้นมาทดแทนเป็นระยะ เพื่อเลี่ยงกฎหมายและไม่ให้ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ยังใช้ระบบการทำธุรกรรมทางการเงินในของสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ยากแก่การติดตามเส้นทางการเงิน ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมโทรทัศน์ของไทย ได้รับความเสียหายจากกลุ่มธุรกิจที่ดำเนินกิจการอย่างผิดกฎหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ร่วมกับ ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว จะมุ่งมั่นในการสืบสวนสอบสวนและดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย และสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทย โดยจะเร่งติดตามจับกุมผู้ต้องหาอีก 6 ราย เพื่อมาดำเนินคดีต่อไป


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!