สวทช. ผนึก สมาคมทีคอส (TCOS) ติดปีกอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ด้วยแพลตฟอร์ม FoodSERP บริการแบบครบวงจร
วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวง อว. : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เรื่อง การพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์เวชสำอาง โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ ผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นางลักษณ์สุภา ประภาวัต นายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย หรือ TCOS (Thai Cosmetic Cluster) ร่วมลงนาม และดร.กัลยา อุดมวิทิต รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ดร.ธนธรรศ สนธีระ อุปนายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย เป็นพยานในความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งและเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ด้วยการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยพัฒนาชั้นนำของประเทศและบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีตามหลักมาตรฐานสากล สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ ผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโล ยีแห่งชาติ กล่าวว่า FoodSERP แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน เป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของ (สวทช.) ในการผลักดันการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโล ยี และนวัตกรรม อย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของทรัพยากรชีวภาพในประเทศ ผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรหลายภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชันและเวชสำอาง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อร่วมสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นและมีมาตรฐานการผลิต
(สวทช.) มีโครงสร้างพื้นฐานโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค สำหรับผลิต functional ingredients หรือ active ingredients และโรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง สำหรับผลิตเวชสำอางที่ได้มาตรฐานสากล รวมถึงแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ (สวทช.) ยังมีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญของทีมวิจัย (สวทช.) ที่จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการในการพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีกระบวนการทางชีวภาพ และนาโนเทคโนโล ยี ในรูปแบบ One-stop service ตั้งแต่การผลิต วิเคราะห์ทดสอบ สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์สำหรับทดสอบตลาด บริการขยายขนาดการผลิต และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG และ Speedy Economy ให้มีศักยภาพการผลิตที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในมิติต่างๆ ตลอดห่วงโซ่การผลิต
“เจตนารมณ์ของความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ให้เป็นรูปธรรม ยกระดับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เวชสำอางของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก ผนึกกำลังร่วมกันผ่านเครือข่ายพันธมิตรในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ที่จะช่วยสร้างผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ” ผู้อำนวยการ (สวทช.) กล่าว
ดร.กัลยา อุดมวิทิต รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามมีการพัฒนา และตลาดมีความต้องการที่หลากหลายยิ่งขึ้น ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อม และตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทันท่วงที ความร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความร่วมมือและผลักดันองค์ความรู้เทคโนโลยีนำผลงานวิจัยไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์แก่ผู้ประกอบการหรือภาคเอกชน
กลุ่มแพลตฟอร์ม FoodSERP นำโดย ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง และทีมวิจัยจากศูนย์แห่งชาติของ (สวทช.) มีความพร้อมทั้งด้านความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม ที่จะช่วยเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะในด้านประสิทธิภาพ หรือที่เรียกว่า “สารสำคัญเชิงหน้าที่ (Functional ingredient)” เพื่อช่วยพัฒนาและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เวชสำอางออกสู่ตลาด รวมทั้งให้บริการพัฒนากระบวนการผลิต สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ การขยายขนาดการผลิตในระดับโรงงานต้นแบบที่มีมาตรฐานสากลสำหรับทดลองตลาด ทดสอบทางคลินิกหรือทดสอบภาคสนาม และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ รวมถึงให้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์กลุ่มส่วนผสมฟังก์ชัน และสารสกัด (functional extracts) เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน สร้างรายได้เพิ่มแก่ผู้ประกอบการ และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเวชสำอางของไทย
ด้าน นางลักษณ์สุภา ประภาวัต นายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย หรือ TCOS (Thai Cosmetic Cluster) กล่าวว่า ความร่วมมือกับองค์กรวิจัยระดับชาติ อย่าง (สวทช.) เป็นอีกมิติที่สำคัญของสมาคมฯ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ การแบ่งปันข้อมูล การเข้าถึงแหล่งทุนวิจัยและทรัพยากร การร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมการผลิต รวมทั้งช่องทางการจัดจำหน่ายตลอดทั้งห่วงโซ่อุปสงค์อุปทาน ซึ่งการที่สมาคมฯ และ (สวทช.) ได้ร่วมลงนามมือกันในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องสำอางให้สามารถแข่งขันและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบเครื่องสำอางไทยไปสู่ระดับโลกได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ด้วยความร่วมมือและให้บริการสนับสนุนในด้านต่างๆ รวมไปถึงเป้าหมายในการสร้างความเป็นเลิศในด้านนวัตกรรม คุณภาพ และความปลอดภัยของเครื่องสำอางไทย
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยยังเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงการใช้วัตถุดิบจากทรัพยากรชีวภาพของไทย อาทิเช่น สมุนไพร วัตถุดิบทางการเกษตรและจุลินทรีย์ ผนวกกับการใช้องค์ความรู้จากภูมิปัญญาไทยที่เป็น soft power อันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใครในเวทีโลก และยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างความยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
“อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย แม้เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตและมีอนาคตที่สดใสในตลาดโลก แต่ในเวลาเดียวกันต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข 3 ด้านหลักๆ คือ
- การแข่งขันกับผู้ผลิตเครื่องสำอางต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีและการตลาดที่ดีกว่า
- การปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกำหนดของตลาดเป้าหมายที่แตกต่างกัน และ
- การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการและความชอบของผู้บริโภคและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ซึ่งสมาคมฯ เชื่อว่าในอนาคตอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ เช่น การใช้ประโยชน์จาก Big Data และ AI ในการวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค การประยุกต์ใช้ไบโอเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย และการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ” นายกสมาคม TCOS กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ภายหลังพิธีลงนามความร่วมมือฯ ได้เปิดเวทีเสวนา เรื่อง “ติดปีกอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามด้วย FoodSERP for sustainable health and beauty” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง 2 หน่วยงาน นำโดย ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค),ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน (สวทช.) และ ดร.อุดม อัศวาภิรมย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทค (สวทช.),คุณลักษณ์สุภา ประภาวัต นายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย, ดร.ธนธรรศ สนธีระ และคุณกฤษณ์ แจ้งจรัส อุปนายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย เพื่อแสดงถึงความเชื่อมั่นในการผลักดันอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามของไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศนวัตกรรมแก่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและผู้ประกอบการไทยบนเวทีนานาชาติ
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ FoodSERP สำหรับ FoodSERP จัดตั้งขึ้นในปลายปี 2565 โดยเป็นหนึ่งใน core business ของ (สวทช.) มีพันธกิจหลักในการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงความพร้อมด้านต่างๆ ไปสู่การใช้ประโยชน์จริงและส่งผลกระทบต่อประชาชนหมู่มากของประเทศ ผ่านการให้บริการการผลิตและวิเคราะห์ทดสอบอาหาร เวชสำอาง และส่วนผสมฟังก์ชัน ตามโจทย์ที่เป็นความต้องการเฉพาะ (Tailor made) ของลูกค้า ในรูปแบบ One-stop service โดยทีมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญหลากสาขา มีวิทยาการความรู้ (know-how) และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีต่างๆ ที่พร้อมให้บริการ รวมถึงเครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและมีมาตรฐานการผลิต ที่จะช่วยผู้ประกอบการในการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม แก้ปัญหาต่างๆ ในห่วงโซ่การผลิต เพิ่มความพร้อมของเทคโนโลยี การวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ทั้งด้านประสิทธิภาพ คุณภาพและความปลอดภัย ตลอดจนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สำหรับผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงในการดำเนินงานกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชัน และสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมส่วนผสมฟังก์ชัน (Functional ingredients ) สมุนไพร และเวชสำอาง จากฐานทรัพยากรชีวภาพด้านการเกษตรและจุลินทรีย์ของประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศอย่างยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน