วันนี้ 7 ต.ค.62 พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) กล่าวถึง กรณีกอ.รมน.ภาค 4 สน. แจ้งความดำเนินคดีแกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการ 12 คน ที่ได้จัดเสวนา “พลวัฒแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” บริเวณลานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า การเสวนาดังกล่าว ได้มีการพูดคุยกันซึ่งตอนหนึ่ง มีการพาดพิงมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ทำให้เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ที่ทำหน้าที่ด้านกฎหมายดำเนินคดี แจ้งข้อหากับผู้ที่เข้าร่วมเสวนาในวันนั้น “สิ่งที่ดำเนินคดียืนยันมีความจำเป็นในเรื่องของการปฎิบัติงาน ถ้ามีการเพิกเฉย หรือละเว้นทางเจ้าหน้าที่ อาจจะได้รับผลกระทบ ผิดตามมาตรา 157 ได้ คิดว่าการปฏิบัติต่างๆ เป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ ส่วนผลการตัดสินจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับศาลเป็นผู้ชี้ขาด โดยให้เป็นไปตามกระบวนการของศาล ซึ่งตนคิดว่า ทุกคนคงเข้าใจตรงกัน และเคารพต่อศาล”
พล.ต.ธนาธิป กล่าวถึง กรณีการปฏิรูป กอ.รมน.ว่า ที่ผ่านมามีการปรับโครงสร้าง ที่ใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ปี 51 และดำเนินการใน ปี 52 ซึ่งการดำเนินการ ในการปรับรูปแบบต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับมิติด้านความมั่นคง ที่เกิดขึ้นและสอดคล้องกับความต้องการของประ ชาชน ดังนั้นการปรับโครงสร้างของกอ.รมน. ก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ตั้งแต่ ปี 59 – ปี 60 ได้มีการปรับโครงสร้างอย่างเต็มรูปแบบ เพราะมิติความมั่นคงเพิ่มขึ้นในวงกว้างอยู่ทุกวัน สิ่งที่เราได้ทำสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกมิติ เช่น เรื่องยาเสพติด เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นการปรับโครง สร้างกอ.รมน.ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ส่วนการที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกอ.รมน.นั้น ที่ผ่านมาเราได้มีการปรับโครงสร้างเพิ่มบริบทและความเข้าใจให้ทุกส่วนงาน เข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกัน
เมื่อถามว่ามีการพูดว่าเมื่อคสช. หมดอำนาจลง ก็ถ่ายโอนอำนาจมาให้ทางกอ.รมน.นั้น พล.ต.ธนาธิป กล่าวว่า ตนคิดว่านัยยะของการเพิ่มอำนาจ น่าจะเป็นการเพิ่มบทบาทมากกว่า ซึ่งการที่กอ.รมน.ต้องเข้าไปเป็นแกนกลางในการประสานงาน เพื่อขับเคลื่อนงานทุกมิติที่เกิดขึ้นปัจจุบันกอ.รมน. ได้ดูแลทุกพื้นที่ หากพื้นที่ไหนมีปัญหาและหน่วยงานไม่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบมากกว่า 2 หน่วยงานทางกอ.รมน. ก็จะเพิ่มบทบาทเข้าไปดูแล และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานั้นๆ “ความเห็นต่างของพี่น้องประชาชนทุกฝ่าย และทุกกลุ่มสามารถยอมรับได้ เพราะเรามีระบอบประชาธิปไตย เราไม่เคยมองพี่น้องประชา ชนเป็นศัตรู กอ.รมน. ยอมรับกฎกติกา ทุกอย่าง ซึ่งดูได้จากที่กอ.รมน.ได้จัด 2โครงการหลักขึ้น สามารถเห็นผลเป็นรูปธรรม อย่างชัดเจน อาทิ โครงการผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และโครงการพาคนกลับบ้าน อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการที่จะมองประชาชน ที่เห็นต่างเป็นศัตรู ไม่ใช่บริบทของกอ.รมน. และเชื่อว่าทุกวันนี้ทุกคนเข้าใจ กอ.รมน. มากขึ้นในมิติของความมั่นคง นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้มอบนโยบายให้ข้าราชการ กอ.รมน. ทุกคนจะต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน ในทุกโอกาส และดูแลประชาชนทุกเชื้อชาติศาสนา อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน”
และในกรณีที่ผู้นำพรรคฝ่ายค้านแจ้งความกลับพล.ท.พรศักดิ์ พลูสวัสดิ์ มทภ.4 และ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน.ภาค 4 สน. จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของกอ.รมน.และกอ.รมน.ภาค 4 สน.หรือไม่ พล.ต.ธนาธิป กล่าวว่า คิดว่าไม่มีผลกระทบ แต่อย่างใด ซึ่งยอมรับว่าทุกคนต้องทำงานในหน้าที่ของแต่ละคน กอ.รมน.ภาค 4 สน. ถือว่าเป็นหน่วยงานในพื้นที่ ที่เห็นว่ามีการดำเนินการพาดพิง ไปถึงมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ กันในวงกว้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องออกไปปฎิบัติตามกฏหมาย เพื่อดำเนินคดี ดังนั้นคำตัดสินใดๆก็แล้วแต่ ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ที่จะรู้ว่าใครจะผิดหรือถูกอย่างไร เป็นอำนาจของศาลที่เป็นกระบวนการตัดสินให้ชัดเจนว่าข้อมูลนี้จะเป็นอย่างไรในอนาคต ก็ต้องรอฟังคำสั่งศาลต่อไป ส่วนการปฎิบัติหน้าที่ของกอ.รมน.ภาค 4 สน. ตนคิดว่าไม่มีเฉพาะงานนี้งานเดียว เพราะการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องทำกันต่อไป
โฆษก กอ.รมน. ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ได้รับไฟเขียวจากใคร เพราะเป็นการปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย ที่มีฝ่ายกฎหมาย เป็นผู้รับผิดชอบ หากนิ่งเฉยหรือเพิกเฉยทางเจ้าหน้าที่เองก็จะเกิดผลกระทบในฐานที่ละเลยการปฎิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 เมื่อถามว่าการไปแจ้งความนั้นมีคนพูดเพียงคนเดียวแต่ไปเหมารวมทั้งหมด พล.ต.ธนาธิป กล่าวว่า ต้องฟังฝ่ายกฎหมายของกอ.รมน. ภาค 4 สน. ว่าจะมีข้อมูลอย่างไร ในส่วนกอ.รมน. ซึ่งเป็นส่วนกลาง ก็ได้มีการติดตามข้อมูลต่างๆ ซึ่งเราก็ต้องออกมาชี้แจงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ฝ่ายกฎหมายกอ.รมน. ภาค 4 สน. ออกมาปฎิบัติ แต่รูปคดีเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับศาล “ผมขอยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีการกลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะสิ่งที่ทำ ยึดตามกฏหมายเป็นหลัก เนื่องจากมีการพูดพาดพิงข้อความหนึ่ง ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ของคนหลายกลุ่ม และเป็นวงกว้าง จึงต้องดำเนินการเป็นรูปธรรมตามกรอบของกฎหมาย”