วช.- มหิดล – กทม. แถลงข่าวลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านงานวิจัย “ระบบแพลตฟอร์มกลางโลจิสติกส์สำหรับการเดินทางของผู้สูงอายุและผู้พิการ”
เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2566 : แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง (อว.) ให้เป็นประธานในการแถลงข่าว และเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านงานวิจัย เรื่อง แพลตฟอร์มกลางสำหรับอำนวยความสะดวกเพื่อการเดินทางของผู้สูงอายุและผู้พิการ ระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) ได้มอบหมาย นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม คณะวิศวกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพมหานคร โดยนายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดย นายอำนาจ คงไทย รักษาการกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อร่วมกันสนับสนุนโครงการออกแบบและพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์ กลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการสู่ระบบสาธารณสุข และเพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลที่ช่วยการบริการทางการแพทย์และการให้บริการในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้สูงอายุ ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 กรุงเทพมหานคร
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา กล่าวว่า นวัตกรรมระบบแพลตฟอร์มกลางโลจิสติกส์สำหรับการเดินทางของผู้พิการ สามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้จริง โดย สำนักการจราจรและขนส่ง และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้นำร่องใช้ในการรับจอง และจัดการเดินทางของผู้สูงอายุและผู้พิการไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อให้มีภาหนะและการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้สูงอายุและผู้พิการในการเดินทางได้อย่างสะดวกไร้รอยต่อ เกิดความปลอดภัย รวดเร็ว และติดตามสอบย้อนกลับในการเดินทางได้ (อว.) หวังว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในวันนี้ จะสามารถร่วมมือและส่งเสริม สนับสนุนโครงการให้เกิดการต่อยอดงานวิจัย จนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศต่อไป
นายธีรวัฒน์ บุญสม กล่าวว่า (วช.) ในฐานะหน่วยงานให้ทุนวิจัย ภายใต้กระทรวง (อว.) ให้ การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยผลักดัน ริเริ่ม เคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งโครงการออกแบบและพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์กลุ่มผู้สูงอายุสู่ระบบสาธารณสุข ของ รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (ศูนย์ LogHealth) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก (วช.) เพื่อพัฒนาระบบแพลต ฟอร์มที่สามารถตอบสนองและรองรับสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ จะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้พิการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ได้สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นวัตกรรมนี้ เป็นของ ศูนย์ LogHealth ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก (วช.) ในการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มกลางสำหรับอำนวยความสะดวกเพื่อการเดินทางของผู้สูงอายุและผู้พิการ ต้นแบบนวัตกรรมนี้สามารถรองรับการจองหรือจัดการการเดินทางของผู้สูงอายุและผู้พิการไปโรงพยาบาลหรือสถานที่ต่างๆ เพื่อให้มีพาหนะและการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้สูงอายุ ที่ได้ช่วยจัดการข้อมูลการใช้รถ ติดตามรอบการรับส่ง ติดตามการใช้งานของผู้สูงอายุและผู้พิการ รองรับการใช้งานผ่านโมบายแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ ช่วยให้กลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการเดินทางไปยังสถานพยาบาล และสถานที่ต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย สะดวกสบาย และรวดเร็ว
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล กล่าวว่า นโยบายกรุงเทพมหานครน่าอยู่สำหรับทุกคน เป็นเรื่องที่กว้างมาก จำเป็นต้องผลักดันหลายเรื่องไปพร้อมกัน และเรื่องหนึ่งที่ กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการ นวัตกรรมดังกล่าว กรุงเทพ มหานคร ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด พัฒนาแอปพลิเคชันภายใต้แนวคิด ‘เรียก รับ จัด จ่าย’ โดยเริ่มทดลองใช้งานตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น เกิดประโยชน์ในการจัดตารางรถรับส่งแก่ผู้สูงอายุและผู้พิการ ส่วนระยะต่อไป กทม. จะใช้จัดเก็บข้อมูลด้วยระบบดิจิทัล เพื่อช่วยให้การเรียกใช้บริการสะดวกขึ้น และจะขยายโครงการเพิ่มจุดบริการรับส่งให้ครอบคลุมสถานพยาบาลของ กทม. ต่อไป
รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (ศูนย์ LogHealth) กล่าวว่า ระบบแพลตฟอร์มกลางโลจิสติกส์สำหรับการเดินทางของผู้สูงอายุและผู้พิการนี้ เกิดขึ้นเพื่อเป็นระบบขนส่งการจัดการโลจิสติกส์กลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการสู่ระบบสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยแอปพลิเคชันได้ถูกออกแบบให้มีองค์ประกอบในการดำเนินงานด้วยกัน 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
1) เว็บแอปพลิเคชันสำหรับหน่วยงานผู้ให้บริการ
2) โมบายแอปพลิเคชันสำหรับพนักงานขับรถที่อยู่ในสังกัดหน่วยงาน
3) โมบายแอปพลิเคชันสำหรับผู้โดยสาร
ผลลัพธ์ที่ได้เกิดเป็นนวัตกรรมหรือแพลตฟอร์มที่รองรับการจองหรือจัดการการเดินทางของผู้สูงอายุ และ ผู้พิการไปโรงพยาบาลหรือสถานที่อื่นๆ ได้ ระยะที่ 2 ได้จะมุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดจากระบบเดิม โดยเพิ่มฟังก์ชันการวางแผนเส้นทางการให้บริการ การจัดแผนการเดินรถให้แก่พนักงานขับรถ รวมถึงการออกแบบและพัฒนาให้แพลตฟอร์มรองรับการร่วมเดินทาง เพิ่มจำนวนฝั่ง รองรับความต้องการจำนวนมาก และรองรับการเชื่อมโยงนำเข้าและส่งออกข้อมูลแพลตฟอร์มกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นๆ ด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน