ข่าวใหม่อัพเดท » “ศุภมาส” หนุนอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ สร้างผู้ประกอบการเชื่อมระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

“ศุภมาส” หนุนอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ สร้างผู้ประกอบการเชื่อมระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

16 พฤศจิกายน 2023
0

“ศุภมาส” หนุนอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ สร้างผู้ประกอบการเชื่อมระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ตั้งเป้าปี 67 ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลสู่ตลาดโลก เผย ธ.ค.นี้ ไปอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เชียงใหม่

เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2566 : นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อม พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.กระทรวง (อว.) และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ โดยมี รศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย ผศ. คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ และคณะผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงานให้การต้อนรับ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ นำผลงานมาจัดแสดง โดยนางสาวศุภมาส ให้ความสนใจเดินชมและพูดคุยกับผู้ประกอบการอย่างเป็นกันเองพร้อมกับสนับสนุนผลิตภัณฑ์ สร้างความประทับใจให้กับผู้ประกอบการที่มาต้อนรับ

ผศ.คำรณฯ กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ มีภารกิจหลักที่สำคัญ คือ การสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการหรือภาคเอกชน โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสานความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคชุมชนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรม ตลอดจนผลักดันผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ที่ผ่านมา อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ ภายใต้การดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเครือข่าย ได้ให้ความสำคัญและพัฒนาผู้ประกอบการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภาคใต้และของประเทศไทย โดยการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมยางพารารุ่นใหม่ โดยเน้นเรื่องของความยั่งยืนและเน้นทำตลาดโลก พร้อมทำวิจัยร่วมกับเอกชนขนาดใหญ่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา นอกจากนี้ ก็ให้ความสำคัญและพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาลมาโดยตลอด ผ่านระบบและกลไกหลักของอุทยานวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี เช่น โครงการสร้างผู้ประกอบการมุสลิมรุ่นใหม่ โดยดึงอัตลักษณ์จากผลิตภัณฑ์ บริการ และอุตสาหกรรมเด่นในพื้นถิ่นมาพัฒนาให้มีความพร้อมผ่านการวิจัยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการ Islamic Art ศิลปะอิสลาม สุนทรียะ เสน่ห์ และแรงบันดาลใจ เพื่อพัฒนาและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ นักออกแบบ และผู้ที่สนใจเกี่ยวกับ “ศิลปะอิสลาม” ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์

“อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ ตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการฮาลาลของประเทศ โดยในปี 2567 จะมุ่งเน้นการขับเคลื่อน “อุตสาหกรรมฮาลาลสู่ตลาดโลก” เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าและบริการฮาลาลที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก” ผศ.คำรณ กล่าว

ด้านนางสาวศุภมาสฯ กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ มีจุดเด่นเรื่องของการเชื่อมโยงอัตลักษณ์พื้นที่ โดยเฉพาะอย่างอย่างการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางพารา และมีการส่งเสริมนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล รวมถึงมีการส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และทางรัฐบาลก็มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาไปสู่การเป็นประตูเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง และการค้าของประเทศ ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์ จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่บนฐานนวัตกรรม และกลไกสำคัญในการพัฒนา หลังจากนี้ตนจะผลักดันอย่างเต็มที่ ให้อุทยานวิทยาศาสตร์มีบทบาทนำในการจัดทำแผนพัฒนาระเบียงระเบียงเศรษฐกิจในภาคใต้และภาคอื่น เพื่อกระจายความเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทยในทุกพื้นที่และตนจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยในเดือน ธ.ค.นี้จะไปอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!