พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 “ยาเสพติดมีอานุภาพแรงแค่ไหน ก็ไม่เท่ากับการจับมือช่วยกันปราบปรามให้สิ้นซากต่อไป”
คำกล่าวตอนหนึ่งของ พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานแถลง “แผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปี 2563” เมื่อเร็วๆนี้ที่ว่า “สู้ด้วยความจริง ไม่บิดเบือน ผิดเป็นผิด ถูกก็คือถูก ยึดเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา” นับเป็นการสร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติกับพี่น้องประชาชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังที่เกิดขึ้นในห้วงของช่วงปี 2562 โดยแม่ทัพภาคที่ 4 หวังจะให้กรอบแนวทางการปฏิบัติที่สร้างความศรัทธานี้ถูกต่อยอดออกไปในแผนเสริมสร้างสันติสุขของปี 2563 ต่อไป
โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการยังคงต้องเดินหน้าเร่งด่วน ประกอบด้วย งานควบคุมพื้นที่ปลอดภัย ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากการปฏิบัติเชิงรับเป็นเชิงรุก ลาดตระเวนพิสูจน์ทราบแหล่งหลบซ่อนพักพิงผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่หมู่บ้านสันติสุข 118 หมู่บ้านและ ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน ตำบล ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ อส.และตำรวจ ร่วมปฏิบัติจรยุทธ์ บูรณาการร่วมกันทั้ง ตำรวจ และทหาร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านต้องทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ให้ปลอดเหตุ การดูแลแนวโดยเฉพาะท่าข้ามผิดกฎหมาย ต้องกวดขันดูแลเป็นพิเศษ เป็นต้น
ส่วนหนึ่ง ที่ทางแม่ทัพภาคที่ 4 ยังคงให้ความสำคัญในลำดับแรกๆ ควบคู่กับการดูแลพื้นที่ให้ปลอดภัยและทำให้เกิดสันติสุขคือ การแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ทางพลโท พรศักดิ์ ให้ความสำคัญมาตั้งแต่ก่อนดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 การปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ 14 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รวมถึงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสำคัญ
การได้เข้ามาคลุกคลีรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน จึงได้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ นำมาสู่การแยกแยะ ตั้งแต่การจับกุมผู้กระทำความผิดตั้งแต่รายย่อยไปจนถึงรายใหญ่ การดึงผู้เสพเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง ผู้ใดที่ตกเป็นผู้เสพนำไปบำบัดและฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ การสร้างงานสร้างอาชีพติดตัวเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้สถาบันครอบครัวกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง ดังนั้นในปี 2563 พลโทพรศักดิ์ ยังสู้ไม่ถอยและจะยังคงเดินหน้าในการเพิ่มมาตรการทุกอย่าง ทั้งการบำบัดรักษา การปราบปรามผู้ค้าทุกระดับ การดำรงไว้และดูแลความเป็นพหุวัฒนธรรมของชุมชนที่มีมาแต่อดีตให้ดำเนินต่อไป ที่น่าสนใจการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนดังที่กล่าวมาแล้วนั้นจะไปเสริมฐานโครงการเมืองต้นแบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
“ผมเน้นย้ำกำลังพลที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ให้ยึดหลักระเบียบ วินัย หลีกเลี่ยงการสร้างเงื่อนไข โดยในปี 2563 จะใช้มาตรการรุก ทั้งการทหารและการเมือง เน้นความจริง จะต่อสู้ความด้วยจริง ทุกเหตุทุกเรื่องที่เกิดขึ้นจะใช้ความจริงเข้าแก้ปัญหา และใช้ยุทธศาสตร์คนดี ให้กำลังพลปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นที่รักของสังคม อย่าทำตัวเหนือกฎหมาย” พลโทพรศักดิ์ กล่าว นอกจากนั้น เมื่อไม่นานมานี้ พลโทพรศักดิ์ ยังให้ความสำคัญต่อการช่วยสนับสนุนในการเป็นประธานเปิดงาน รวมพลังกองทุนแม่ของแผ่นดินประจำปี 2562 โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. จัดขึ้นที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ.ยะลา โดยมี มวลชนญาลันนันบารู ที่อยู่ในโครงการชุมชนเข้มแข็งแก้ไขปัญหายาเสพติดและโครงการประชารัฐญาลันนันบารูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
พลโท พรศักดิ์ ระบุตอนหนึ่งในงานว่า “ตั้งแต่ผมได้ประกาศแผนปฏิบัติการรวมพลังแก้ไขปัญหายาเสพติด คืนความสุขให้กับพี่น้องประชาชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ให้หมดสิ้นไป นำความผาสุกมาให้กับพี่น้องประชาชนทุกท่าน การบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและจริงใจ สำหรับมวล ชนและผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เดินทางมาในวันนี้ทราบว่า สมาชิกกองทุนแม่ของแผ่นดินส่วนใหญ่เป็นมวลชนญาลันนันบารูที่อยู่ในโครงการชุมชนเข้มแข็งแก้ไขปัญหายาเสพติดและโครงการประชารัฐญาลันนันบารูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ทุกท่านจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดภายในชุมชนอย่างแท้จริง ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือและสนับสนุนด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง”
สำหรับการแก้ปัญหายาเสพติดในห้วง 1 พฤศจิกายน 2561 ถึง 26 กันยายน 2562 ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้สรุปผลการปฏิบัติงานการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของศูนย์ปฏิบัติการร่วมอำเภอ 37 อำเภอ (ศปร.อ. 37 อำเภอ) เป็นที่น่ายินดีดังนี้
- มีการบังคับใช้กฎหมาย กับ ผู้ค้ารายใหญ่ 176 ราย, ผู้ค้ารายย่อย 3,857 ราย รวมผู้เสพ 19,081 ราย
- ตรวจยึดของกลางยาบ้า 2,196,886 เม็ด, กัญชา 25,484 กิโลกรัม, ใบกระท่อม 18,403 กิโลกรัม, น้ำกระท่อม 14,870 ลิตร, ยาไอซ์ 41.308 กรัม, ยาแก้ไอ 23,928 ขวด แบ่งบรรจุ จำนวน 24,467 ซีซี., เฮโรอีน 38.958 กิโลกรัม, ยาอี 100 เม็ด รวมผู้ต้องหาทั้งหมด 7,922 ราย
- การดำเนินการต่อผู้เสพยาเสพติดที่สมัครใจรายงานตัวเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง เพื่อเข้ารับการบำบัดยาเสพติด ตามนโยบายแม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 จำนวน 15,084 ราย, กระบวนการบำบัดฟื้นฟู 13,855 ราย, ติดตามบำบัดฟื้นฟู 8,036 ราย และส่งเสริมอาชีพ 266 ราย
ผลการปฏิบัติเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ไม่ใช่เพียงเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนเท่านั้น หากแต่เป็นความร่วมของพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันอย่างจริงจัง ทำให้การแก้ปัญหาได้ตรงจุดและทันสถานการณ์ ดั่งที่ว่า พวกเราต้องช่วยกันปราบปรามยาเสพติดเพื่อแผ่นดินไทยอยู่รอดต่อไป
“ยาเสพติดมีอานุภาพแรงแค่ไหน ก็ไม่เท่ากับการที่พวกเราร่วมจับมือช่วยกันปราบปรามให้สิ้นซากต่อไป” พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณข้อมูล : Smile ชายแดนใต้