อว. ผลักดันการจัดตั้งคณะวิชาเพิ่มให้แก่ 3 ม.ราชภัฏ “ร้อยเอ็ด-ชัยภูมิ-ศรีษะเกษ” สำเร็จ แก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างหน่วยงานและอัตรากำลังที่ยืดเยื้อมานานกว่าสิบปี พร้อมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 10
เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2566 : น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดประชุมหารือการขับเคลื่อนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏ 3 แห่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีเพิ่งเห็นชอบให้เพิ่มส่วนราชการเทียบเท่าคณะ โดยเรียนเชิญ พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เป็นเกียรติเข้าร่วมประชุมติดตามการดำเนินงาน โดยมี ผศ. ดร.วิชิต กำมันตะคุณ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด รศ. ดร. ประกาศิต อานุภาพแสนยากร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ผศ.ดร.สานนท์ ด่านภักดี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ตลอดจนผู้บริหารของทั้งสามมหาวิทยาลัย และผู้บริหารของ (อว.) เข้าร่วมประชุม
พล.อ.ดาว์พงษ์ องคมนตรี ได้กล่าวชื่นชมที่ รมว.อว. ได้รายงานว่า คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 14 พ.ย.2566 ได้เห็นชอบให้จัดตั้งหน่วยงานเทียบเท่าคณะ ได้แก่ “คณะครุศาสตร์และการพัฒนามนุษย์” และ”สำนักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต” เพิ่มในมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 3 แห่ง ได้แก่ มรภ.ร้อยเอ็ด มรภ.ศรีสะเกษ และมรภ. ชัยภูมิ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญมาก และกล่าวแสดงความยินดีกับ (มรภ.) ทั้ง 3 แห่ง ที่มีส่วนราชการระดับคณะเพิ่มเติมขึ้นเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิ ภาพขึ้น หลังจากที่มหาวิทยาล้ยได้ความพยายามจัดตั้งนับสิบปี โดยขอบคุณ (รมว.อว.) ที่ได้ช่วยผลักดันจนสำเร็จ เป์นการแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างหน่วยงานและอัตรากำลังที่ยืดเยื้อมานาน ทั้งนี้ได้ให้คำแนะนำกับ (อว.) และมหาวิทยาลัยว่า ควรจะใช้โอกาสนี้พัฒนาต่อยอดในการจัดการศึกษาแบบใหม่ ที่ไม่อยู่ในรูปแบบเดิมๆ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การสร้างคนและการพัฒนาพื้นที่ซึ่งเป็นภารกิจหลักของ มรภ. โดยขอให้วางแผนการดำเนินงานอย่างมีวิสัยทัศน์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและธรรมาภิบาลในสถาบันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เห็นชัดเจน เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏต้นแบบและมหาวิทยาลัยแนวใหม่ และขอให้ดำเนินการเป็นไปตามที่ได้แผนงานที่ได้ตกลงร่วมกันกับกระทรวง (อว.) ไว้ โดยจะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการของ (มรภ.) ทั้ง 3 แห่งอย่างใกล้ชิดต่อไป
ด้าน น.ส.ศุภมาสฯ รัฐมนตรี (อว.) กล่าวว่า (อว.) ได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งสามารถที่จะปรับปรุงพัฒนาในทุกๆ ด้าน ให้เต็มศักยภาพ เพื่อตอบสนองภารกิจในการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศ ซึ่ง ม.ราชภัฎ 3 แห่งนี้ มีโครงสร้างที่แตกต่างจากที่อื่น มีข้อจำกัดในการดำเนินงาน โดยเมื่อ (ครม.) ได้เห็นชอบตามที่ (อว.) เสนอ ให้จัดโครงสร้างส่วนราชการใหม่ จะสอดคล้องกับบทบาทของมหาวิทยาลัย และทำให้การบริหารจัดการทั้งในแง่โครง สร้างและบุคลากรมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยตนได้มอบนโยบายให้ทั้ง 3 มหาวิทยาลัยจัดการให้หน่วยงานระดับคณะที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ สามารถพัฒนาจัดการเรียนการสอนและขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งสามารถดำเนินงานสร้างรูปแบบการศึกษาที่ต่างจากรูปแบบเดิม มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นด้วยโดยใช้ความรู้และนวัตกรรม จัดหลักสูตรโดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาคเอกชน หรือหน่วยงานอื่นร่วมผลิต มีทั้งแบบการศึกษาปริญญาและแบบระยะสั้น Non-Degree ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้โดยไม่จำเป็นต้องมีปริญญา อีกทั้งสามารถเก็บสะสมในธนาคารหน่วยกิตได้ เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงสนับสนุนอาจารย์ผู้สอนให้สามารถขอตำแหน่งทางวิชาการใน 5 ช่องทางวิชาการแบบใหม่ คือ ผลงานด้านการรับใช้ท้องถิ่นและสังคม ผลงานด้านการสร้างสรรค์สุทรียะศิลปะ ผลงานด้านการสอน ผลงานด้านนวัตกรรม และผลงานด้านศาสนา ซึ่งทั้งหมดนี้ ขอให้ผู้บริหาร อาจารย์ และพนักงานของทุกมหาวิทยาลัยต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ในทิศทางเดียวกัน รวมถึงทุกมหาวิทยาลับต้องพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้สอดรับกับโครงสร้างของมหาวิทยาลัยแบบใหม่อย่างจริงจังอีกด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน