“ศุภมาส” รมว.อว. หารือแนวทางพัฒนาระบบการศึกษา ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษาฯ วุฒิสภา พร้อมก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงของโลกร่วมกัน
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2566 : น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมหารือแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว., ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง (อว.), รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง (อว.),คณะผู้บริหารกระทรวง (อว.) และคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษาฯ วุฒิสภา เข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุม 302 ชั้น 3 โซน N อาคารรัฐสภา
น.ส.ศุภมาสฯ กล่าวว่า นโยบายของกระทรวง (อว.) ในด้านของอุดมศึกษา มุ่งเน้นให้นักเรียนนักศึกษาเรียนดี มีความสุข ลดภาระค่าใช้จ่ายให้นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง นักศึกษามีรายได้ในระหว่างการศึกษา ผ่านการจัดระบบแนะแนวการเรียนและเป้าหมายชีวิต มีแพลต ฟอร์มการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เน้นพัฒนาทักษะ จัดทำระบบวัดผล รับรองทักษะมาตรฐานวิชาชีพ เพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทะเบียนเรียนตามความต้องการ ไม่จำกัดจำนวนหน่วยกิต และที่สำคัญ กระทรวง (อว.) สนับสนุนให้นักเรียนสามารถสอบ TCAS ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพิ่มโอกาสในการเข้าสู่มหาวิทยาลัยให้นักเรียนเพิ่มขึ้น เพราะการศึกษาคือการสร้างทักษะที่สำคัญในการดำรงชีวิต และทรัพยากรมนุษย์เป็นกำลังหลักสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนและพัฒนาไปได้
นางสาวศุภมาสฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ (อว.) ยังมีนโยบายลดภาระให้อาจารย์ผู้สอน ผ่านการเพิ่มช่องการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์โดยไม่ต้องนำเสนอผลงานทางวิชาการเพียงอย่างเดียว รวมถึงการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการประเมินการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ และในด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มุ่งหวังให้เกิดงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
ทั้งนี้ การหารือแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการอุดมศึกษา มีประเด็นสำคัญ ดังนี้
(1) โครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (National Digital Learning Platform: NDLP) ให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ออกแบบ ทบทวนจุดแข็ง จุดอ่อน ร่วมกันการนำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ เกิด Big Data ของแหล่งการเรียนรู้ร่วมกัน
(2) แนวทางการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยและความสอดคล้องกับระเบียบวิธีการในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก
(3) พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนสถานะของสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะกรณีการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในรูปแบบการรวมมหาวิทยาลัย
(4) พิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทอุดมศึกษาต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศไทย
(5) การเยียวยาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา กรณี ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ปรับอัตราเงินเดือนขึ้นร้อยละ 8
(6) แนวคิดการจัดการศึกษา SAM (Sport Art Music) ให้นักเรียน นักศึกษา ได้ทำกิจกรรมที่นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว
ในส่วนของการหารือในประเด็นวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีดังนี้
(1) การสนับสนุนและการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนากำลังคน โดยเฉพาะการวิจัยเพื่อสร้างขีดความสามารถในการเข่งขัน และการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (graduate program) เพื่อให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาได้ทำงานวิจัยและใช้ประโยชน์งานวิจัย
(2) การให้สถาบันอุดมศึกษาใช้ระบบและกระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ทุกมิติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น สนับสนุนนโยบาย U2T
(3) การบริการวิชาการเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนระบบการรับรอง (certification) และการตรวจสอบ (inspection) ในโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure, NQI) ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการตรวจสอบและรับรองสินค้าที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ
(4) ความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. ….
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน