วันเดียว กรมศุลกากรตรวจยึดยาเสพติดลักลอบนำเข้าและส่งออกไปนอกราชอาณาจักร มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท
วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2566 : นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษก กรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรได้เพิ่มมาตรการติดตามและเฝ้าระวังการลักลอบขนส่งยาเสพติด ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งการขนส่งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มีนโยบายให้แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วน และจากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบขนส่งยาเสพติดระหว่างประเทศ พบว่า ผู้กระทำความผิดยังคงมีการขนส่งยาเสพติดผ่านทางพัสดุไปรษณีย์ไปนอกราชอาณาจักร เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังคงมีผู้กระทำความผิดลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
โดยเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ร่วมกับชุดปฏิบัติการ AITF (AIRPORT INTERDICTION TASK FORCE) ประกอบด้วย กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย ได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้าม ต้องจำกัด ออกนอกราชอาณาจักร ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ พบว่ามีการลักลอบนำยาเสพติดออกนอกราชอาณาจักรผ่านพัสดุไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศ ปลายทางประเทศ AUSTRALIA ถึง 2 ชิปเม้นท์ โดยในช่วงเวลา 10.30 น. พบพัสดุต้องสงสัย สำแดงชนิดสินค้าเป็น Photo จำนวน 1 หีบห่อ น้ำหนักรวม 8.310 กิโลกรัม ตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน (Heroine) ลักษณะผงสีขาว ซุกซ่อนอยู่ภายในกล่องพลาสติกที่เคลือบทับด้วยเรซิน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 3,000 กรัม มูลค่า 9 ล้านบาท ต่อมา เวลา 11.30 น. พบพัสดุต้องสงสัย สำแดงสินค้าเป็น Photo จำนวน 1 หีบห่อ น้ำหนักรวม 8.440 กิโลกรัม ตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน (Heroine) ลักษณะผงสีขาว ซุกซ่อนอยู่ภายในกล่องพลาสติกที่เคลือบทับด้วยเรซิน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 2,993 กรัม มูลค่า 8.979 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ชิปเม้นท์ มีการซุกซ่อนยาเสพติดในลักษณะเดียวกัน การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 มาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด
นอกจากนี้ กรมศุลกากร และชุดปฏิบัติการ AITF ได้ร่วมกันตรวจสอบผู้โดยสารระหว่างประเทศที่มีความเสี่ยงในการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยได้จับกุมผู้โดยสารหญิง สัญชาติเคนยา เดินทางมาจากเมืองแอดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย ปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผลการตรวจค้น พบยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน ซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าถือติดตัวขึ้นเครื่องบินและซุกซ่อนไว้ในร่างกายภายในช่องทวาร น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 1,240 กรัม มูลค่า 3.72 ล้านบาท
และในวันเดียวกัน (5 ธันวาคม 2566) กรมศุลกากร โดย สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกับชุดปฏิบัติการ AITF จับกุมผู้โดยสารชาย สัญชาติอเมริกัน ซึ่งเดินทางมาจากกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผลการตรวจค้น กระเป๋าสัมภาระของผู้กระทำความความผิด พบวัตถุออกฤทธิ์ ประเภท 2 เคตามีน (Ketamine) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 3,100 กรัม ยาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 ยาอี (MDMA / ECSTASY) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 1,000 กรัม และ MDA น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 3.1 กรัม และยาเสพติดให้โทษ ประเภท 4 (2C-B) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 3.1 กรัม มูลค่า 9.1 ล้านบาท โดยของกลางทั้งหมดถูกเก็บไว้ในช่องลับที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษในกระเป๋าเดินทางของผู้โดยสาร การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 252 มาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด
สำหรับสถิติการจับกุมยาเสพติดของกรมศุลกากร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (1 ตุลาคม 2566–5 ธันวาคม 2566) มีจำนวน 33 ราย มูลค่ารวมประมาณ 194.757 ล้านบาท
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า นอกจาก กรมศุลกากรจะให้ความสำคัญและเข้มงวด
ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาและส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว กรมศุลกากรยังให้ความสำคัญกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหลีกเลี่ยงนำเข้า–ส่งออก ซึ่งของต้องห้าม ต้องจำกัด ตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
โดยเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 กรมศุลกากร โดย สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จับกุมผู้โดยสารชาย สัญชาติจีน (ไต้หวัน) ซึ่งจะเดินทางไปยังกรุงไทเป สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พยายามลักลอบนำสัตว์มีชีวิตออกไปนอกราชอาณาจักร ผลการตรวจค้น พบสัตว์มีชีวิตประเภท นากเล็กเล็บสั้น ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามเลี้ยง ล่า หรือค้า จำนวน 2 ตัว และแพรรีด็อก (Prairie dog/กระรอกดิน) จำนวน 1 ตัว ของกลางทั้งหมดแยกเก็บไว้ในถุงเท้าแล้วซุกซ่อนไว้กับตัวบริเวณต้นขา โดยสวมใส่กางเกง 3 ชั้น ใช้เทปกาวพันถุงเท้าบรรจุสัตว์มีชีวิตไว้กับกางเกงชั้นในสุดแล้วสวมกางเกงบ๊อกเซอร์และกางเกงยีนส์ทับไว้
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด ฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 166 มาตรา 167 และมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 และความผิดฐานพยายามส่งออกสัตว์ป่าควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และยังเป็นความผิดตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน