“รางวัลรัฐบาลดิจิทัลปี 2023 : ผู้ได้รับรางวัล Digital Government Awards” ขับเคลื่อนประเทศด้วยรัฐบาลดิจิทัล บริการภาครัฐ โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 กรุงเทพ : DGA จัดงานยิ่งใหญ่ทำเนียบรัฐบาลได้มีการมอบรางวัล Digital Government Awards 2023 จำนวน 150 รางวัล ส่งเสริมประเทศไทยก้าวหน้าไปอีกขั้นสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัลประจำปี 2566 “Digital Government Awards 2023” แก่หน่วยงานภาครัฐที่มีการยกระดับองค์กรสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล จำนวนทั้งสิ้น 150 รางวัล ซึ่งจัดโดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เพื่อเป็นผลสะท้อนการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงความสำเร็จของหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ โดยมี นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล, ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
ในการนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงความชื่นชม ยินดีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลรัฐบาลดิจิทัลประจำปี 2566 พร้อมกล่าวถึงทิศทางการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลที่เกิดจากความมุ่งมั่นพัฒนาของหน่วยงานรัฐทั่วประเทศส่งผลให้อันดับรัฐบาลดิจิทัลไทยพุ่งขึ้นมาลำดับที่ 19 จาก 66 ประเทศ และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ในปี 2023 จากการจัดอันดับ World Digital Government (Waseda-IAC World Digital Government Ranking) ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยวาเซดะ (Waseda University) ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
ทั้งนี้ รัฐบาลตระหนักดีว่าการบริหารงานและการให้บริการที่ตอบโจทย์ประชาชนแบบตอบสนองทันท่วงทีอาจไม่เพียงพอ รัฐบาลจำเป็นต้องปรับตัวตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของประชาชน ยกระดับบริการภาครัฐ สิ่งสำคัญที่ต้องการเน้นย้ำ คือ การปรับปรุงบริการออนไลน์ภาครัฐเพื่อให้การติดต่อกับภาครัฐเป็นเรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ การเข้าถึงสวัสดิการและบริการสาธารณะ หรือการสมัครใบอนุญาตต่างๆ พร้อมทั้ง สร้างความมั่นใจต่อผู้รับบริการว่าขั้นตอนต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น โปร่งใส และสามารถเข้าถึงได้จากที่บ้านของทุกคน รวมถึงการสร้างมุมมองที่เป็นประสบการณ์ทั้งหมดของประชาชนด้วยข้อมูล Single View of Citizen หรือ 360-degree Customer View เพื่อให้หน่วยงานของรัฐบาลมีความเข้าใจที่สมบูรณ์เกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์และการทำธุรกรรมระหว่างประชาชนกับภาครัฐ ซึ่งแนวคิดนี้จะส่งเสริมการให้บริการมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน และเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดี และต้องมีข้อมูลที่มีคุณภาพและถูกต้อง เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานให้ทำงานร่วมกันได้ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวผ่านการให้สิทธิและควบคุมข้อมูลที่น่าเชื่อถือ พร้อมทั้งการนำเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงมาใช้วิเคราะห์เชิงลึก และปรับปรุงบริการภาครัฐ ต่อยอดนวัตกรรมบริการ ร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งต้องอาศัยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้สำเร็จสามารถรองรับการให้บริการออนไลน์ทั่วทั้งประเทศ
นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวรายงานถึงโครงการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐว่า ปัจจุบันภาครัฐมีบริการดิจิทัลที่หลากหลายมิติครอบคลุมบริการประชาชนในทุกช่วงชีวิต อาทิ แพลตฟอร์มบริการกลาง และบริการดิจิทัลเพื่อประชาชน เป็นผลเนื่องมาจากโครงการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นเครื่องมือสำคัญให้รัฐบาลสามารถติดตามก้าวหน้าในการปรับเปลี่ยนหน่วยงานภาครัฐสู่องค์กรดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ ก็สามารถกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมดังผลสำเร็จที่เป็นที่ประจักษ์ในเวทีรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ซึ่งในปีนี้ได้แบ่งรางวัลเป็น 5 รางวัล ได้แก่ รางวัลรัฐบาลดิจิทัล สำหรับหน่วยงานมีคะแนนความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลรวมสูงสุด รางวัลเฉพาะด้านประจำปี ประกอบด้วย 3 รางวัลย่อย คือ รางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านการใช้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ รางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านการเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ และรางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านบุคลากรดิจิทัล รางวัลผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่น รางวัลพัฒนาการดีเด่น และ รางวัลท้องถิ่นดิจิทัล
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า โครงการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ ในปีนี้ DGA ได้สำรวจหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐระดับกรมหรือเทียบเท่า และ หน่วยงานระดับจังหวัด รวมทั้งสิ้น 376 หน่วยงาน จากผลการสำรวจ พบว่า หน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่า มีสัดส่วนหน่วยงานที่มีความพร้อมในขั้นริเริ่ม ขั้นต้น ขั้นกลาง ลดลง และมีความพร้อมระดับขั้นสูง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการมีพัฒนาการด้านความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลที่สูงขึ้นในภาพรวม อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐระดับกรมหรือเทียบเท่ายังมีระดับความพร้อมอยู่ในระดับขั้นกลาง เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดที่ร้อยละ 44.52 จากผลสำรวจยังสะท้อนให้เห็นถึงหน่วยงานระดับกรมมีคะแนนความพร้อมด้านแนวนโยบายและหลักปฏิบัติสูงที่สุด รองลงมาคือ ด้านการบริการภาครัฐ
ซึ่งจากผลสำรวจสามารถนำมากำหนดเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายได้ 4 ประการ ดังนี้
- มุ่งเน้นการบริหารจัดการข้อมูลตามหลักธรรมาภิบาล หรือ Data Governance ควบคู่ไปกับการเปิดเผยข้อมูลเป็นหลัก Open by Default และดำเนินการตามมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
- ส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากรภาครัฐ และติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบและน่าเชื่อถือ
- ยกระดับการให้บริการดิจิทัลผ่านการเชื่อมต่อแพลตฟอร์มกลางที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ด้วยแนวคิด Inclusion by Design และประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้บริการดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้น อีกทั้ง สนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการตัดสินใจ หรือ e–Decision–Making ทั้งเชิงนโยบาย และการออกแบบบริการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และ
- ให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นมาตรฐาน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
นอกจากนี้ DGA ในฐานะหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้ผลักดันและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในด้านสำคัญมาโดยลำดับ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ การให้บริการแพลตฟอร์มกลางระบบสื่อสารด้วยอีเมลและระบบประชุมออนไลน์สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ แพลตฟอร์มกลางท้องถิ่นดิจิทัลสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ได้ให้คำปรึกษาและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการองค์กรอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมและยกระดับทักษะด้านดิจิทัลให้แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติราชการตาม พ.ร.บ.ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 อย่างต่อเนื่อง เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน เข้าถึงบริการภาครัฐที่ทันสมัย โปร่งใส และตรวจสอบได้อย่างเป็นรูปธรรม
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ dgawards.dga.or.th
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน