ข่าวใหม่อัพเดท » DSI ยืนยันกระบวนการรับโอนคดีผู้บริหารโกลบอลกรีนฯ (GGC) ทุจริตสั่งซื้อน้ำมันปาล์มดิบจาก บก.ปอศ. เป็นไปตามกฎหมาย

DSI ยืนยันกระบวนการรับโอนคดีผู้บริหารโกลบอลกรีนฯ (GGC) ทุจริตสั่งซื้อน้ำมันปาล์มดิบจาก บก.ปอศ. เป็นไปตามกฎหมาย

14 ธันวาคม 2023
0

DSI ยืนยันกระบวนการรับโอนคดีผู้บริหารโกลบอลกรีนฯ (GGC) ทุจริตสั่งซื้อน้ำมันปาล์มดิบจาก บก.ปอศ. เป็นไปตามกฎหมาย

ตามที่ปรากฏข่าวในโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 กล่าวหาว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ “แย่งคดี ปอศ. ช่วยแก๊งสวาปาล์ม” กรณีรับโอนคดีกล่าวหาผู้บริหารของบริษัทโกลบอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) กระทำความผิดอาญาฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาดำเนินการเสียเองทั้งที่คดีใกล้จะเสร็จ จนมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อมารับทราบข้อกล่าวหาและเตรียมสรุปสำนวนการสอบสวนแล้วนั้น

กรมสอบสวนคดีพิเศษขอขอบคุณที่สื่อมวลชนให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติงาน และเป็นโอกาสที่จะได้อธิบายกระบวนการทางกฎหมายในการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ให้สาธารณชนทราบ จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นลำดับ ดังนี้

1.เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 บริษัทโกลบอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) ได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวหาให้ดำเนินคดีอาญากับผู้บริหารของบริษัทโกลบอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) ฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีตรวจพบหลักฐานว่าระหว่างปี พ.ศ.2557–พ.ศ.2561 ได้กระทำการทุจริตสั่งซื้อน้ำมันปาล์มดิบแล้วออกใบรับสินค้าโดยยังไม่ได้รับสินค้าทำให้บริษัท โกลบอลกรีนฯจ่ายเงิน ค่าสินค้าให้กับบริษัทคู่ค้ามีมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 2,078,760,000 บาท โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจได้รับคดีอาญาดังกล่าวไว้ทำการสอบสวน

2.ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้มีหนังสือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีอาญากับผู้บริหารของบริษัทโกลบอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) และผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากตรวจสอบพบพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่า กรรมการผู้มีอำนาจหรือผู้บริหารของบริษัท โกลบอลกรีนฯ ในขณะเกิดเหตุ กระทำการเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 อันมีข้อเท็จจริงแห่งคดีเดียวกัน จึงรวมการสอบสวนเป็นสำนวน การสอบสวนเดียว

3.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้มีหนังสือลงวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งเรื่องตามข้อ 1 และข้อ 2 มาเพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ เนื่องจากได้มีประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะ ของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ข้อ 4 ประกอบบัญชีท้ายประกาศฯ ข้อ 11 กำหนดให้คดีความผิดที่มีโทษตามมาตรา 281/2 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 (กรรมการหรือผู้บริหารบริษัท ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความสุจริต จนเป็นเหตุให้บริษัทเสียหาย) กรณีที่มีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป ที่มีความซับซ้อนหรือมีผลกระทบต่อประเทศในมิติต่างๆ ตามที่กำหนด ในมาตรา 21 ของกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ เป็นอำนาจของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะมีคำสั่งให้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ

4.รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้พิจารณาพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงต่างๆ จากสำนวนการสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและที่เจ้าหน้าที่รวมรวมเพิ่มเติมตามที่เสนอมาแล้ว เห็นว่ามีเหตุตามกฎหมาย เนื่องจากปรากฏมูลค่าความเสียหายถึง 2,078,760,000 บาท และเป็นคดีที่มีความซับซ้อน มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาให้ทำการสอบสวนคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษที่ต้องสืบสวนและสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547

อนึ่ง ภายหลังจากที่มีการส่งมอบสำนวนการสอบสวนเป็นที่เรียบร้อย ข้อบังคับกรรมการคดีพิเศษ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.2547 กำหนดให้ต้องมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนผู้ทำการสอบสวนมาแต่เดิมกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวกับรายละเอียดที่ได้ดำเนินการไปแล้วเพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือ รวมทั้งตามมาตรา 22 วรรคท้ายของกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ ยังกำหนดให้สำนวนการสอบสวนที่ส่งมอบมานั้นเป็นส่วนหนึ่งของสำนวน การสอบสวนคดีพิเศษ จึงทำให้พยานหลักฐานทุกประการที่ดำเนินการมาแล้วต้องถูกนำมาประกอบการพิจารณาจนตลอดกระบวนการยุติธรรม อันเป็นกระบวนการตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ ในทางกลับกัน หากพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ยังทำการสอบสวนต่อไปโดยไม่ส่งมอบมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ย่อมเป็นการสอบสวนที่ปราศจากอำนาจ ตามกฎหมาย เป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลไปด้วยเนื่องจากคดีพิเศษจะต้องสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และหากต่อมาการสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพบว่าเป็นคดีที่มีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะ “พนักงานสอบสวน” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องดังกล่าว จะเป็นผู้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป จึงจำเป็นต้องชี้แจงและสื่อสารมายังสาธารณชนเพื่อทราบโดยทั่วกัน


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!