“ศุภมาส” ลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ ชูอัตลักษณ์พื้นถิ่นเชื่อมโยงนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล หนุนนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่เพื่อพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 4 ภูมิภาค มอบอุทยานวิทย์เป็นหัวหอกจัดทำแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อกระจายความเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทยในทุกพื้นที่
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2566 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พร้อม น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ (รมว.อว.),รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ รมว.กระทรวง (อว.) โดยมี ศ.ดร. นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ผู้บริหาร (มช.) และ ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั่วประเทศให้การต้อนรับ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการนำเสนอนิทรรศการผลงานความสำเร็จภายใต้การดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (Economic Corridor) นวัตกรรมเพื่อการเรียนการสอนหุ่นยนต์และการเขียนโปรแกรมของอีซี่คิดส์หรือชุดหุ่นยนต์ 3 in 1 Easykids Robot kids ขึ้น ซึ่งเป็นชุดหุ่นยนต์ฝึกทักษะการเขียนโปรแกรม 3 ภาษาคอมพิวเตอร์ 3 ระดับ ในหุ่นยนต์ชุดเดียว Block-Based Programming – Python – C/C++ สำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย เป็นต้น
ทั้งนี้ รศ.ดร.วีระพงษ์ นำเสนอภาพรวมกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ว่า การดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในช่วงปี 2556-2566 ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวง (อว.) ส่งผลให้เกิดการกระจายการเข้าถึงเพื่อนำงานวิจัยและเทคโนโลยีไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ มีการจัดกิจกรรมด้าน (ววน.) ไปแล้วกว่า 35,000 กิจกรรม มีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 530,000 คน ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบเทคโนโลยีรายใหม่มากกว่า 1,000 ธุรกิจ เกิดการจ้างงานกว่า 50,000 อัตรา สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศมากกว่า 56,000 ล้านบาท สามารถผลิตผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ จำนวน 1,355 ผลงาน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ในทุกปี โดยมีผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ถึง 14 เท่า กล่าวคือเงินลงทุนในอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 1 บาท สร้างผลตอบแทนคืนให้กับเศรษฐกิจไทย 14 บาท
จากนั้น น.ส.ศุภมาสฯ ให้นโยบายว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ช่วยส่งเสริมการกระจายโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีให้กับประชาชน ในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดมูลค่าเพิ่มในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ถือเป็นการกระจายโครงสร้างพื้นฐานด้าน (ววน.) สู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมและสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่ภูมิภาคอย่างมหาศาล เกิดการจ้างงาน เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยนวัตกรรม เกิดการพัฒนาของธุรกิจทุกขนาดในพื้นที่ด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมที่เติมเต็มอยู่อย่างต่อเนื่อง
“ที่สำคัญ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มีจุดเด่นในการการเชื่อมโยงอัตลักษณ์พื้นถิ่นซึ่งสามารถที่จะเชื่อมโยงกับนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลได้อย่างดี และมีการส่งเสริมนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (Economic Corridor) ใน 4 ภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูเศรษฐกิจภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและการค้าของประเทศ ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่บนฐานนวัตกรรม” น.ส.ศุภมาสฯ กล่าวและว่า
กระทรวง (อว.) ให้ความสำคัญกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและพร้อมจะผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการไทย ให้อุทยานวิทยาศาสตร์มีบทบาทนำในการจัดทำแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อกระจายความเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทยในทุกพื้นที่ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกบริการที่สำคัญในภูมิภาคอาเชียนและระดับโลกด้วยการ “ใช้นวัตกรรมนำประเทศ” อย่างเป็นรูปธรรม
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน